top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
  • พิชาวีร์ เมฆขยาย

10 เรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนออกมาทำธุรกิจส่วนตัว


ทำธุรกิจส่วนตัว, ผู้ประกอบการ

ทุกวันนี้คุณคงจะได้ยินข่าวคนยุคใหม่มากมายที่ออกมาตามหา Passion ทำตามความฝัน และคนเหล่านั้นมักจะทำให้เราว้าว เพราะอายุยังน้อยแบบเหลือเชื่อกันทั้งนั้น แถมพวกเขายังประสบความสำเร็จและดูกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าคนวัยเดียวกันส่วนใหญ่จะทำได้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย ที่ฝันว่าซักวันหนึ่งอยากจะมีธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จของตัวเองบ้าง ขณะเดียวกัน เรื่องราวเดียวกันก็อาจทำให้คนที่รู้สึกว่าตัวเองอายุมากแล้ว มากเกินจะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ท้อแท้และหมดไฟได้ ก่อนที่คุณจะได้อ่าน 10 เรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนออกมาทำธุรกิจส่วนตัว แวนอยากให้คุณได้พบกับสถิติในโลกความเป็นจริงของอาชีพผู้ประกอบการกันซักนิด

  • อายุเฉลี่ยของคนที่เริ่มต้นอาชีพผู้ประกอบการคือเกือบ 40 ปี

  • มากกว่า 80% ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการที่อายุเกิน 35 ปี

  • ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี

  • ทำธุรกิจส่วนตัว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีประสบการณ์การเป็นลูกจ้างนานถึง 15 ปีก่อนออกมา

ดังนั้น ข่าวที่คุณได้ยินเกี่ยวกับคนวัยยี่สิบกว่าที่ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจของตัวเองจนร่ำรวยนั้น เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งหวังว่าสถิตินี้จะช่วยจุดประกายความฝันในการออกมาสร้างธุรกิจของตัวเองได้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม อย่างไรก็แล้วแต่ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังทำงานในฐานะลูกจ้างมืออาชีพ และมีความคิดว่าซักวันจะออกมาสร้างธุรกิจส่วนตัวของตัวเองบ้าง แวนไปอ่านเจอในหนังสือเรื่อง “Burn the business plan: What great entrepreneurs really do” ที่เขียนโดย Carl J. Schramm จึงได้เรียบเรียง 10 เรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งกลั่นมาจากผู้ประกอบการตัวจริงที่มีประสบการณ์ผ่านสังเวียนการทำธุรกิจมามากมาย มาให้คุณได้อ่านและเตรียมตัวกันก่อนค่ะ

Burn the business plan book

1. คุณต้องเรียนรู้ (การเป็นผู้ประกอบการ) จากการลงมือทำเท่านั้น “You have to start a company to learn how to start a company.” คุณต้องสร้างธุรกิจเพื่อเรียนรู้วิธีการสร้างธุรกิจ เพราะสถานการณ์และการลงมือทำจริงเท่านั้นที่จะทำให้คุณเข้าใจแต่ละธุรกิจ รวมถึงปัจจัยที่จะทำให้คุณสำเร็จหรือล้มเหลว ซึ่งตำราในห้องเรียนจะให้คุณไม่ได้มากไปกว่าทฤษฎีและกรณีศึกษาที่อาจไม่สามารถใช้กับธุรกิจจริงของคุณได้ คำแนะนำคือ หากคุณไม่เคยรู้เรื่องหรือมีประสบการณ์การทำธุรกิจมาก่อน คุณควรเรียนรู้จากองค์กรที่คุณทำอยู่ให้มากที่สุด ในแง่ของการคิดและตัดสินใจเชิงธุรกิจ รวมถึงการเริ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อยด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วย เพื่อให้คุณมองเห็นโลกของการทำธุรกิจที่แท้จริง (ซึ่งต้องใช้ระบบการคิดและชุดทักษะที่ค่อนข้างแตกต่างกับการทำงานในตำแหน่งลูกจ้าง)

2. การสร้างธุรกิจไม่ใช่ที่สำหรับเด็กเล่น คุณอาจจะได้ยินเรื่องราวของ School dropouts หลายคนที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองแล้วประสบความสำเร็จระดับโลก อย่าง Mark Zuckerberg, Steve Jobs หรือ Bill Gates แต่นั่นไม่ใช่เรื่องราวของผู้ประกอบการส่วนใหญ่แม้แต่น้อย เพราะตามสถิติแล้ว โอกาสประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจจะเพิ่มขึ้นตามอายุ วุฒิภาวะ และประสบการณ์ในการทำงาน อีกทั้ง อย่าลืมว่าประชากรผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มธุรกิจของตัวเองหลังจากอายุ 35 ปี ไปแล้ว และจะยังไม่ก่อตั้งบริษัทของตัวเองจนกว่าจะมีประสบการณ์การทำงานมามากพอ

3. คุณจะเรียนรู้จากองค์กรมากกว่าจากห้องเรียน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากที่เคยทำงานให้กับองค์กรใหญ่ที่อื่นมาก่อน Steve Jobs ทำงานที่ Atari และ Steve Wozniak ก็ทำงานที่ Hewlett-Packard ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มบริษัท Apple ที่ยิ่งใหญ่ เพราะการทำงานให้กับบริษัทใหญ่จะทำให้คุณได้เห็นระบบงานที่หลากหลาย ทั้งการตั้งราคา การตอบสนองความต้องการของลูกค้า วิธีทำการตลาดและการขาย ฯลฯ รวมทั้งเห็นสิ่งที่ทำแล้วดี และทำแล้วไม่ดีจำนวนมาก เพื่อคุณจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่เพียงพอก่อนมาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง

4. ธุรกิจที่ดีไม่ได้สร้างเสร็จเพียงชั่วข้ามคืน คุณอาจประทับใจกับการที่ Instagram สามารถก่อร่างธุรกิจตัวเองและขายให้ Facebook ในราคาถึงหนึ่งพันล้านเหรียญภายหลังก่อตั้งได้เพียง 18 เดือน แต่นั่นไม่ใช่วิถีธุรกิจส่วนใหญ่ ธุรกิจที่รากฐานมั่นคงและยั่งยืนไม่ได้สร้างเสร็จเพียงหลักเดือนหรือไม่กี่ปี แต่บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก เช่น Google หรือ Microsoft ใช้เวลาร่วม 10 ปีในการพิสูจน์ตัวเองจนสามารถเข้าตลาดหุ้นได้ เพราะความจริงแล้วไอเดียเริ่มแรกที่นำพาคุณให้เริ่มธุรกิจ อาจไม่สามารถพาคุณไปต่อและเติบโตได้ ในระหว่างทางคุณจำเป็นต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ จนธุรกิจของคุณพิสูจน์ตัวมันเองให้มหาชนได้ประจักษ์

5. ทุกธุรกิจที่เริ่มต้นมี CEO เพียงหนึ่งเดียว ถึงแม้ไอเดียการมีทีมผู้ร่วมก่อตั้งหลายๆ คน เพื่อรวมพลังความคิดและความสามารถกันหลายแขนงจะถูกนำเสนอไปมากมาย แต่จากผลการวิจัยในระยะยาวชิ้นสำคัญกลับค้นพบความลับที่สวนทางกัน ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้จริงต่างมีผู้นำที่คอยนำเสนอวิสัยทัศน์และชี้ทิศทางของทีมทั้งหมดเพียงคนเดียว Elon Musk เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ ถึงแม้ทั้งธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมจากคนที่หลากหลาย แต่คนที่คอยตัดสินใจและชี้เป็นชี้ตาย ควรมีเพียงหนึ่งเดียว ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่า ยิ่งมีผู้ร่วมก่อตั้งที่ต่างมีอำนาจในการตัดสินใจและเลือกเส้นทางเท่าๆ กันทุกคนจำนวนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการทะเลาะกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวทางธุรกิจได้มากเท่านั้น

6. เมื่อเริ่มต้นธุรกิจ คุณคือเดอะบอส ทุกธุรกิจในช่วงเริ่มต้นนั้น การจ้างคนเก่งมาทำงานถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ยิ่งบริษัทเล็กเท่าไหร่ การจ้างหนึ่งคนมีผลกระทบมหาศาลต่อธุรกิจทั้งหมด ซึ่งคุณเองต้องลุกขึ้นมากุมบังเหียนและจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการบริหารจัดการคนให้ได้เร็วที่สุด และคุณควรมีอำนาจและสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องคนเพียงคนเดียว ซึ่งกฎเหล็กคือ อย่าแชร์อำนาจการตัดสินใจเท่าๆ กันในผู้ร่วมก่อตั้ง อย่าจ้างเพื่อนหรือญาติมาทำงาน และพยายามอย่าให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นในบริษัทแก่พนักงาน (ในตอนที่บริษัทยังอยู่ในช่วงตั้งไข่) ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากคุณไม่เคร่งครัด จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาอย่างแน่นอน

7. งานขายคือทุกสิ่งทุกอย่าง ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องมีกำไร ซึ่งกำไรนั้นก็เกิดจากลูกค้าที่มาซื้อสินค้าและพึงพอใจ เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถห่วงเพียงการจะสร้างสินค้านวัตกรรมที่หวังเปลี่ยนโลก หากสินค้านั้นขายไม่ได้ ดังนั้น โรงเรียนผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกาหลายที่จึงกำหนดให้นักศึกษามีช่วงเวลาที่ต้องออกไปเคาะประตูเพื่อขายของตามบ้าน เพื่อเรียนรู้งานขาย รวมถึงยังจะนำไปสู่การเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป

8. คุณต้องการฟีดแบ็กที่จริงใจ เวลาที่คุณได้เริ่มต้นทำธุรกิจหรือเพิ่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามปกติแล้วคุณมักจะเลือกถามความเห็นจากครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท ส่วนใหญ่แล้ว ฟีดแบ็กที่ได้มามักจะดีเกินจริง เนื่องจากพวกเขาต้องการให้กำลังใจ สนับสนุน และช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ โดยไม่กล้าจะวิพากษ์วิจารณ์เท่าที่ควร แต่ข่าวร้ายคือฟีดแบ็กเหล่านั้นอาจไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นจริงๆ ของตลาด ดังนั้น คุณควรแสวงหากลุ่มคนที่จะสามารถให้ฟีดแบ็กคุณได้อย่างจริงใจ ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ตรงๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย แต่ในระยะยาวสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องการการสูญเสียจำนวนมหาศาลที่จะตามมา

9. ธุรกิจคือการหาเงิน Richard Branson ได้พูดเปรียบผู้ประกอบการไว้ว่าเหมือน “คนที่กระโดดลงจากหน้าผาและต้องสร้างเครื่องบินเสร็จให้ทันก่อนร่วงลงถึงพื้น” นั่นเพราะชีวิตจริงของผู้ประกอบการ คือการต้องแบกรับความเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งด้านสถานะทางการเงินที่บางคนต้องถึงขนาดกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการสร้างธุรกิจ และยังเสี่ยงกับการจะถูกตัดสินว่าล้มเหลวจากคนรอบข้าง หากธุรกิจไปไม่รอดอีกด้วย ดังนั้นหากคนทำธุรกิจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่ว่าจะต้องหารายได้ให้มากและเติบโตให้ได้ ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่รอด ดังนั้นอย่าไขว้เขวกับความสุขอย่างอื่น จนลืมภารกิจหลักของการทำธุรกิจคือการหาเงิน

10. โอกาสไม่ได้เดินมาหาคุณเอง จงเดินออกไปหามัน มีคำกล่าวของนักแสดงตลกชาวอเมริกันว่า “หากโอกาสไม่มาเคาะประตู จงสร้างประตูขึ้นมาเสียก่อน” หมายความว่า การทำธุรกิจไม่สามารถอาศัยความเฮงอย่างเดียวได้ แต่คุณต้องทำงานอย่างหนักและเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อนที่โอกาสและความโชคดีทั้งหลายจะวิ่งเข้ามา ทั้งพร้อมด้านความรู้และประสบการณ์ ด้านสายสัมพันธ์ที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนให้ธุรกิจของคุณเติบโต และด้านการสามารถพลิกปัญหาหรือฟีดแบ็กจากลูกค้าให้กลายเป็นโอกาสใหม่ๆ จำไว้ว่าความโชคดีมาพร้อมกับการทำงานหนัก ไม่ใช่ว่าตระเวนบนบานพระวัดดัง ๆ อย่างเดียวแล้วจะทำให้คุณรอด นี่คือ 10 เรื่องที่คุณต้องตระหนักไว้ให้ดีก่อนคุณจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำหันมาเริ่มทำธุรกิจ อย่าลืมว่า 80% ของธุรกิจจะล้มหายตายจากไปภายใน 10 ปีแรก นั่นหมายความว่า ที่คุณเห็นเรื่องราวประสบความสำเร็จทั้งหลายนั้นเป็นเพียงคนส่วนน้อย จงทำงานให้หนัก เตรียมพร้อมตัวเองและทรัพยากรทุกอย่างให้ดี แล้วเปอร์เซ็นความเสี่ยงจะลดลง พร้อมๆ กับโอกาสที่จะประสบความสำเร็จที่เพิ่มขึ้น

Comments


bottom of page