top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
  • รูปภาพนักเขียนพิชาวีร์ เมฆขยาย

คุณกำลังอยู่ใน Toxic Relationship ความสัมพันธ์ที่เหมือนยาพิษ หรือไม่

ช่วงที่ผ่านมาแวนได้มีโอกาสดูซีรีส์ Love Death + Robots ❤️❌🤖ในตอนสุดท้ายของ season 3 ที่ชื่อว่า Jibaro ซึ่งต้องบอกว่าอึ้งทึ่งกับงานศิลปะชั้นยอดในภาพยนตร์อะนิเมชั่นเรื่องนี้มาก แต่ประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงก็คือ ‘Toxic Relationshipความสัมพันธ์ที่เป็นพิษที่ต่างสร้างความเจ็บปวดให้กันและกัน แล้วสุดท้ายต่างก็พ่ายแพ้กันไป แวนขออนุญาตไม่พูดถึงรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องนี้มาก เพราะไม่อยากสปอยล์และอยากให้ไปหาดูกัน


jibaro, love death +robots, toxic relationship
Jibaro ใน Love Death + Robots

แม้ในเรื่องจะพูดถึงความสัมพันธ์ในแบบคนรัก แต่ Toxic Relationship แท้จริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ทั้งเพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ


ในขณะที่ Healthy relationship หรือความสัมพันธ์ที่ดี นั้นจะอยู่บนพื้นฐานของความเคารพให้เกียรติกัน ความไว้วางใจกัน และการห่วงใยดูแลกัน ต่างฝ่ายต่างให้และได้รับเท่า ๆ กัน อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข เบาสบาย และเป็นตัวของตัวเอง แต่ Toxic Relationship กลับเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้คุณรู้สึกทุกข์ เครียด ไม่เป็นตัวของตัวเอง กระตุ้นให้คุณแสดงด้านร้ายออกมามากกว่าด้านดี ๆ ที่มีอยู่ และสูญเสียมากกว่าได้รับ


หากจะให้อธิบายรายละเอียดอีกหน่อย แวนอยากชวนคุณมาสำรวจความสัมพันธ์ของตัวเองว่าเป็นไปตามด้านล่างนี้บ้างหรือไม่


จะรู้ได้อย่างไรว่า คุณกำลังมี Toxic Relationship อยู่


• คุณเป็นฝ่ายให้มากกว่าจะได้รับ จนคุณเริ่มสงสัยในคุณค่าของตัวเอง

• คุณรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ให้เกียรติหรือไม่ยอมรับคุณ

• คุณรู้สึกไร้ค่าหรือหมดความมั่นใจลงไปเรื่อย ๆ

• คุณรู้สึกเหมือนไม่ได้รับการสนับสนุนหรือการดูแล มักถูกเข้าใจผิด ๆ หรือถูกโจมตี

• คุณมักรู้สึกทุกข์ เครียด เศร้า โกรธ เหงา เหนื่อย หมดแรง เวลาที่อยู่กับบุคคลคนนั้น

• การใช้เวลาอยู่ด้วยกันกระตุ้นให้ต่างฝ่ายต่างแสดงด้านร้าย ๆ ของตัวเองออกมา เช่น โกหก หึงหวง ตำหนิ จับผิด ด่าทอ ด้อยค่า เพิกเฉย

• คุณไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่

• คุณรู้สึกว่าด้านดี ๆ ของตัวเองมักไม่ได้แสดงออกมาเวลาที่อยู่ด้วยกัน

• คุณรู้สึกว่าต้องระวังตัวตลอดเวลาเพื่อไม่ให้พลาดหรือถูกอีกฝ่ายตำหนิหรือโจมตี

• ต่างฝ่ายต่างคอยจับผิดกันและกัน

• เมื่อเกิดเรื่องอะไรขึ้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง

• คุณรู้สึกว่าไม่สามารถไว้วางใจอีกฝ่ายได้อย่างสนิทใจ หรือไม่ได้รับความไว้วางใจเท่าที่ควร มักเกิดความหึงหวงขึ้นบ่อยครั้ง

• คุณมักรู้สึกถูกควบคุมหรือบงการจากอีกฝ่ายเสมอ


สรุปง่าย ๆ คือ ความสัมพันธ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือต่างฝ่ายต่างมุ่งทำร้ายกันมากกว่าจะรักและเมตตากัน เมื่อคุณต้องใช้เวลาในความสัมพันธ์นั้นนาน ๆ คุณจะยิ่งรู้สึกไร้ค่า เครียด หมดแรง รวมทั้งเกิดผลกระทบกับชีวิตด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น สุขภาพกาย หรือการทำงาน


การศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในปี 2016 พบว่า ความสัมพันธ์ที่แย่และชวนเครียดส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของหัวใจ ในระยะยาวจะทำให้เสียสุขภาพ และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น การดื่มหนักขึ้น หรือปัญหาการกินที่ถูกกระตุ้นโดยอารมณ์ (Emotional Eating)


รูปแบบพฤติกรรมแบบไหนที่เสี่ยงต่อ Toxic Relationship


คนบางประเภทจะมีความเสี่ยงที่จะคุกคามหรือทำร้ายจิตใจหรือแม้กระทั่งร่างกายกับคนรอบข้างโดยอาจไม่รู้ตัว หรือคนบางประเภทก็ยอมตามจนมักถูกเอารัดเอาเปรียบในความสัมพันธ์อยู่เสมอ เช่น


1. คนหลงตัวเอง (Narcissist)

คนประเภทนี้มักมองตัวเองสมบูรณ์แบบ และไม่คิดว่าตัวเองมีข้อด้อยหรือทำผิดพลาด ดังนั้นพวกเขามีแนวโน้มไม่ยอมรับผิด แต่อาจโยนความผิดให้อีกฝ่าย เมื่ออีกฝ่ายเกิดทำอะไรที่ประสบความสำเร็จขึ้นมา เขาอาจเผลอด้อยค่าความสำเร็จหรือสิ่งดีนั้น เพราะเขาไม่ต้องการให้ใครโดดเด่นเกินตัวเขาเอง หลายครั้งที่พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยพยายามผูกพันทางใจกับใครอย่างลึกซึ้ง


2. คนที่ชอบควบคุมบงการ

คนประเภทนี้มักชอบวางตัวเองเป็นศูนย์กลาง มองว่าตัวเองมีความสามารถมากกว่า รู้ดีกว่า หรือเพียงแค่ต้องการให้ทุกคนเป็นได้ดังใจตัวเอง บางครั้งเขาอาจไม่สั่งหรือบังคับโดยตรง แต่อาจมีเทคนิคหรือวิธีพูดที่ทำให้คนอื่นทำตามที่ตัวเองต้องการ ดังนั้น เขามักรู้สึกขัดใจเมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปดั่งใจ เขามักคิดแทนคนอื่น ขาด Empathy และมีแนวโน้มตำหนิอีกฝ่ายหากทำอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ


3. คนที่ self-esteem สูงมากเกินไป

เช่นเดียวกับคนที่ชอบควบคุมบางการ และคนหลงตัวเอง คนที่ self-esteem สูงจะมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ค่อยรับฟังใคร ยึดความคิดของตนเองเป็นใหญ่ อาจดูถูกอีกฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ให้คุณค่าและไม่ได้ซาบซึ้งหรือเคารพคนอื่นเท่าที่ควรจะเป็น


4. คนที่ self-esteem ต่ำมากเกินไป

ในทางตรงกันข้าม คนที่ self-esteem ต่ำมากเกินไปมักจะปล่อยให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ โดยไม่ปกป้องตัวเอง แต่ก็ไม่ได้มีความสุขในความสัมพันธ์นั้น และเป็นทุกข์เมื่อถูกตำหนิจากอีกฝ่าย เขาต้องการให้คนมาเห็นคุณค่า ดังนั้นเขาจึงยอมให้อีกฝ่ายกระทำ เพื่อแลกกับความรู้สึกว่ายังมีใครซักคนต้องการเขาอยู่ บางครั้งเขาอาจแสดงออกโดยการหึงหวงอยู่บ่อยครั้ง หวาดระแวง เพราะความกลัวที่จะสูญเสียอีกคนไป



เมื่อกำลังอยู่ใน Toxic Relationship ทำอย่างไร


เปิดใจคุยกัน

หากทั้งสองฝ่ายยังมีใจที่อยากจะปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เป็น healthy relationship ก็ควรต้องมานั่งคุยกันอย่างเปิดใจ รับฟังกันและกัน และพูดโดยไม่ใช้อารมณ์ พูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่ตัวเองมีต่อความสัมพันธ์นี้ และสิ่งที่อยากจะให้ความสัมพันธ์ที่เป็น การพัฒนาความสัมพันธ์จำเป็นต้องร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย จึงจะได้ผลมากกว่า


เริ่มที่ตัวเองก่อน

จากเดิมที่คุณอาจไม่ไว้วางใจ ชอบจับผิด ตำหนิ ชอบด้อยค่า ไม่รับฟัง ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเริ่มปรับเปลี่ยนที่ตนเอง สังเกตว่าพฤติกรรมไหนของตนเองที่ toxic เสียเอง เมื่อรู้ตัวก็หยุดทำ พยายามปรับลด และเพิ่มพฤติกรรมที่ดีมาแทน เช่น รับฟัง ห่วงใย ทำเพื่ออีกฝ่ายโดยไม่หวังผลตอบแทน ปรารถนาดี เมตตา ทำความเข้าใจ และเคารพอีกฝ่ายด้วยความจริงใจ


อย่าขุดคุ้ยเรื่องในอดีต

หากคุณต้องการให้ทั้งสองฝ่าย move on คุณเองก็ต้องหยุดพูดถึงเรื่องในอดีตที่เป็นบาดแผล จำไว้ว่าทุกการโต้เถียง หากเริ่มมีการขุดคุ้ยหยิบยกเอาเรื่องในอดีตมาพูด รับรองว่าไม่จบง่าย ๆ แน่นอน


บางครั้งเรื่องของคนสองคนอาจขัดแย้งกันไม่สิ้นสุด เพราะไม่มีใครฟังใคร ซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่สามที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา มาช่วยบำบัดชีวิตคู่หรือความสัมพันธ์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ละฝ่ายควรต้องปรับปรุงหรือทำอะไรเพื่อซ่อมแซมความสัมพันธ์นั้น


ถอยห่าง แยกย้าย

หากพยายามแล้วแต่กลับไม่เห็นผล คุณรู้สึกว่าถูกบั่นทอนลงไปเรื่อย ๆ ทุกข์ เครียด ซึมเศร้า ไร้ค่าอยู่บ่อยครั้ง อาจถึงเวลาที่คุณควรพิจารณารักษาระยะห่าง หรือกระทั่งแยกย้ายกันไปในกรณีที่ทำได้ ความสัมพันธ์นั้นได้ให้บทเรียนกับคุณเพื่อเริ่มต้นใหม่กับคนใหม่ได้อย่างถูกที่ถูกทางมากขึ้น รวมถึงช่วยให้คุณคัดกรองคนที่จะมีความสัมพันธ์ด้วยได้ดีมากขึ้นในครั้งต่อไป



จำไว้ว่า หากไม่จำเป็นต้องอดทน แล้วทำไมคุณจึงต้องยอมให้บางความสัมพันธ์บั่นทอนคุณค่าและคุณภาพชีวิต และการไม่อนุญาตให้ตัวเองเข้าไปอยู่ใน Toxic relationship ก็คือการรักตัวเองอย่างหนึ่งนั่นเอง


 

อ้างอิง

bottom of page