top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
  • รูปภาพนักเขียนพิชาวีร์ เมฆขยาย

ความสัมพันธ์ของคุณกำลังเสี่ยงต่อ Relationship Burnout อยู่รึเปล่า



หาก Job Burnout คือภาวะหมดไฟในการทำงาน ไม่มีแรงจะสู้ในเรื่องงานที่ทำอยู่ต่อไป เกิดภาวะอารมณ์ที่คล้ายคนซึมเศร้าหดหู่ อยากลาออกเต็มทน ภาวะ Relationship Burnout ก็คือภาวะหมดไฟในความสัมพันธ์ก็อาการคล้ายคลึงกัน แต่เกิดกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ เรียกง่าย ๆ ว่า หมด passion ในความรักแล้วนั่นเอง


คำว่า Relationship Burnout มักจะหมายถึงความสัมพันธ์ที่เริ่มสร้างความรู้สึกเหนื่อยล้า ซึมเศร้า และมองในแง่ร้ายเกี่ยวกับอีกฝ่าย ส่วนใหญ่เรามักจะหมายถึงคนรัก แต่จริง ๆ แล้วยังสามารถใช้ได้กับความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น เพื่อน ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานได้อีกด้วย ภาวะนี้มักเกิดขึ้นหลังจากช่วงฮันนีมูนหรือช่วงหวานชื่นหมดไปแล้ว ซึ่งหากภาวะนี้ไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่ความตึงเครียด ความไม่พอใจ ตลอดจนการเลิกราในที่สุด


ลองมาตรวจสอบสถานการณ์ในความสัมพันธ์ของคุณเอง ณ ขณะนี้ว่าเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นถี่แค่ไหน


สัญญาณของ Relationship Burnout


1. อีกฝ่ายไม่มีเสน่ห์หรือน่าดึงดูดสำหรับคุณอีกต่อไป

มุขตลกแนวที่คุณเคยหัวเราะ มาตอนนี้มันดูน่าเบื่อหรือน่ารำคาญ นิสัยบางอย่างที่คุณเคยมองข้ามแต่ตอนนี้กลับสร้างความหงุดหงิดให้คุณขึ้นเรื่อย ๆ หรือนิสัยของอีกฝ่ายที่คุณเคยมองว่าน่ารัก มีเสน่ห์ ตอนนี้คุณกลับรู้สึกเฉย ๆ หรือรู้สึกเชิงลบกับสิ่งนั้น


2. เริ่มเลี่ยงที่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน

การใช้เวลาอยู่ด้วยกันกลับทำให้หมดแรง แทนที่จะอยู่ด้วยกันแล้วรู้สึกมีพลัง มีความสุข แต่คุณกลับรู้สึกว่าต้องใช้พลังกับการโต้เถียง จับผิด อธิบาย หรือบางครั้งคุณก็อธิบายไม่ถูก รู้เพียงแต่ว่าคุณเลือกที่จะหลีกเลี่ยงที่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน แล้วหันไปทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากกว่า ความสัมพันธ์ของคุณจึงยิ่งห่างเหินไปเรื่อย ๆ โดยปริยาย


3. เวลาในการทะเลาะกันมีสัดส่วนมากกว่าเวลาที่มีความสุขร่วมกัน

ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มพูดผิดหูมากขึ้น ทุกอย่างดูขวางหูขวางตา หรือมักมีประเด็นให้ต้องทะเลาะกันเสมอ แม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคู่ชอบนำเรื่องในอดีตขึ้นมาพูดแล้วชวนทะเลาะกันอีก บางครั้งเกิดในรูปแบบของการชี้นิ้วกล่าวโทษและตำหนิอีกฝ่ายในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น


4. เริ่มไม่อยากพูดถึงปัญหาหรือไม่ต้องการแก้ไขอีกต่อไป

ในทุกคู่ต่างมีปัญหาหรือความขัดแย้งซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่คู่ที่รักกันจะพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา หันมาคุยกันเพื่อมุ่งหวังอยากช่วยกันแก้ปัญหาให้จบ แต่คู่ที่ Burnout นั้นจะเริ่มไม่แยแส เลือกที่จะเงียบ เพิกเฉย และไม่อยากพูดถึงเรื่องนั้นให้หงุดหงิดใจอีกต่อไป


5. ไม่มีใจอยากพูดคุยกันเรื่องอนาคตร่วมกันอีกแล้ว

ไม่ใช่แค่การวางแผนเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกัน แต่บางครั้งแค่การวางแผนจะไปเที่ยวด้วยกันเดือนหน้าก็ทำให้คุณไม่ตื่นเต้นที่อยากจะคุยแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะคุณกำลังยุ่งมากหรือกำลังโฟกัสการสร้างอนาคตที่ดีให้กัน สิ่งนี้คือสัญญาณที่ชัดเจนว่า คุณหมด Passion แล้วจริง ๆ


ภาวะหมดไฟในความสัมพันธ์เหล่านี้จะนำไปสู่ปัญหาด้านอารมณ์ของคุณตามมา รวมถึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตด้วย หากคุณพบว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะนี้ ควรชวนอีกฝ่ายมาพูดคุยกันเรื่องนี้ พร้อมร่วมกันหาทางแก้ไข ก่อนที่ภาวะหมดไฟจะนำไปสู่การนอกใจหรือเลือกที่จะเดินจากไปแบบที่อีกฝ่ายไม่ทันรู้ตัว


อะไรบ้างคือสาเหตุของ Relationship Burnout


ภาวะความสัมพันธ์แบบนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละคู่ก็จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยแตกต่างกัน สาเหตุเหล่านั้นอาจได้แก่


1. หมดความตื่นเต้นเร้าใจ

เป็นเรื่องของความพึงพอใจ หมดความตื่นเต้นที่จะได้เจอได้อยู่ด้วยกัน บางคู่เพียงแค่หมด Passion ไม่รู้สึกว่าอีกฝ่ายน่าดึงดูดอีกต่อไป หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเบื่อง่าย ตื่นเต้นกับคนใหม่ ๆ ได้ง่าย เหล่านี้ก็ทำให้เกิดภาวะนี้ได้


2. ปัญหาชีวิตรุมเร้า

เกิดความเครียดหลากหลายด้าน ด้วยวัยผู้ใหญ่ต่างต้องมีเรื่องให้คิดมากมาย ทั้งงาน ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ความเครียดและความกดดันเหล่านี้ก็อาจกระตุ้นให้คนเราแผ่ขยายความรู้สึกลบ ๆ ไปยังคนใกล้ชิดของตัวเองด้วย บางคนมีปัญหาทางสุขภาพจิต เกิดความกังวลในเรื่องอื่น ๆ ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยาก เมื่ออยู่ด้วยกันก็กระทบกระทั่งกับคนที่อยู่เคียงข้างตนเอง ก็ส่งผลให้หมดความตื่นเต้นและเกิดความเหนื่อยหน่ายขึ้นแทนในความสัมพันธ์


3. เคมีไม่ตรงกันตั้งแต่แรก

บางคู่ตัดสินใจอยู่ร่วมกันด้วยความรู้สึกหลงใหล แบบมี Passion ขั้นสุด แต่ก็ทะเลาะกันบ่อยครั้งอันเนื่องมาจากสไตล์ นิสัยใจคอที่แตกต่างและขัดแย้งกันมากเกินไป เมื่อเวลาผ่านไปความหลงใหลลดถอยลง ผ่านพ้นช่วงหวานชื่น หมดโปรโมชั่น กระตระหนักเรื่องนิสัยที่ต่างกันมากเริ่มกลายเป็นประเด็น


4. นิสัยส่วนตัวบางอย่างของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

บางคนไม่ค่อยใส่ใจคนรอบข้าง ไม่ชอบดูแลคนรัก บางคนมีนิสัยหวาดระแวงมากเกินไป ชอบจับผิดเพราะมีประสบการณ์ในทางลบกับความสัมพันธ์ในอดีต Self-esteem ต่ำ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าจนกลัวตลอดเวลาว่าคนรักจะนอกใจ หรือบางคนนอกจากจะไม่ให้กำลังใจแล้วยังชอบพูดเพื่อลดทอนความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเบื่อหน่ายไปเรื่อย ๆ จนเริ่มบั่นทอนความสัมพันธ์


ลองตรวจสอบพฤติกรรมและสถานการณ์ความสัมพันธ์ของคุณในขณะนี้ หากพบว่าคุณกำลังเข้าข่ายภาวะนี้ อย่ารีรอที่จะชักชวนอีกฝ่ายมาพูดคุยและทำงานร่วมกันในการแก้ไขเรื่องนี้


บทความหน้าเรามาดูวิธีแก้ไขภาวะ Relationship Burnout กันนะคะ


ที่มา:

bottom of page