- พิชาวีร์ เมฆขยาย
วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี 5 ประเภท
ไม่มีความสุขกับงานเพราะเพื่อนร่วมงาน ทำยังไงดี อีกหนึ่งปัญหาที่แวนได้ยินมาบ่อยมาก จากการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการการทำงานและความก้าวหน้า สิ่งหนึ่งที่ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน คือ สถานที่ทำงานเป็นที่ที่ทุกคนต้องสร้างผลงาน และส่วนใหญ่มีระบบวัดผลการทำงานออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งทุกคนล้วนต่างต้องพยายามเพื่อให้ผลงานออกมาดูดี และเป็นที่ยอมรับในที่ทำงาน รวมทั้งเพื่อให้ตัวเองทั้งก้าวหน้าในตำแหน่ง และได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ ที่มนุษย์เราต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่กดดันให้ต้องแข่งขันกันสร้างผลงานโดยปริยาย การอยู่รอดเพื่อปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้แวนนึกถึงบรรดาหนังหรือซีรีย์ซอมบี้ ที่เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันหลายคน ท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างเผยธาตุแท้ และทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอดท่ามกลางภยันตรายรอบด้าน แม้ต้องเล่นพรรคเล่นพวก หรือหักหลังคนอื่นก็ตาม อย่างไรก็ตาม ชีวิตจริงคงไม่ได้เลวร้ายเท่าในหนัง แม้จะมีบางคนที่นิสัยไม่ดีแบบนั้นจริง แต่ก็พบว่าเป็นส่วนน้อย เอาล่ะค่ะ หากว่าคุณกำลังโคจร หรือกรรมจัดสรรให้คุณต้องไปประสบพบเจอกับเพื่อนร่วมงานที่ทำให้คุณทุกข์ จนคุณไม่อยากไปทำงานล่ะก็ ลองพยายามหาทางรับมือกันซักตั้งก่อนค่ะ อย่าเพิ่งยอมแพ้ง่าย ๆ เพราะงานที่ดีที่เหมาะกับคุณและยังค่าตอบแทนดีนั้น จะว่าไปก็อาจหาไม่ได้ง่ายนักค่ะ 1. เพื่อนร่วมงานที่ชอบโยนงาน หลายครั้งที่คนใจดีมีน้ำใจกับเพื่อน คนที่อยากผูกมิตรกับคนอื่น ๆ หรือคนที่ทำงานได้หลายอย่าง กลับกลายเป็นคนที่โดนโยนงานที่คนอื่นไม่อยากรับผิดชอบมาให้มากที่สุด หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ขั้นแรกขอให้มองในทางดีไว้ก่อนว่า แสดงว่าพื้นฐานจิตใจคุณเป็นคนดี มีน้ำใจ แต่คนอื่นดันใช้ความดีตรงนี้เป็นช่องโหว่เพื่อเอาเปรียบคุณ ขอแนะนำให้คุณทำบอร์ดหรือชาร์ตงานที่คนอื่นโยนมาให้คุณทำ โชว์ให้เห็นกันทั้งฟลอร์เลยค่ะ ว่าตอนนี้คุณรับภาระมากแค่ไหน และใครบ้างที่โยนงานมาให้คุณรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ทักษะการปฏิเสธนั้นสำคัญกับคุณมากค่ะ ตอนนี้คุณอาจไม่กล้าปฏิเสธเพราะความกลัวลึก ๆ ข้างในว่าคนอื่นจะไม่ชอบหรือมองคุณในทางที่ไม่ดี แต่อยากให้ใช้วิจารณญาณเพื่อพิจารณาว่า งานแต่ละชิ้นนั้น คุณควรรับมาทำจริง ๆ หรือคุณแค่ปฏิเสธคนอื่นไม่ไหว การถูกเกลียดบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ค่ะ ลองโดนบ้างซักครั้งสองครั้ง แล้วต่อไปคุณก็จะเครียดน้อยลงเองค่ะ แต่หากงานไหนคุณสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานได้ และคุณก็ไม่ได้้เดือดร้อน ก็แนะนำว่าทำเถอะค่ะ การช่วยเหลือกันทำงานเพื่อเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน บางครั้งก็เป็นสิ่งจำเป็นค่ะ
2. เพื่อนร่วมงานที่ชอบนินทา มนุษย์ออฟฟิศหรือมนุษย์ที่มารวมกลุ่มกันเยอะ ๆ ก็หลีกเลี่ยงเรื่องการนินทาหรือพูดถึงคนอื่นลับหลังไม่ได้หรอกค่ะ หากคุณได้อ่านหนังสือ Homo Sapien แล้วคุณจะพบว่า พฤติกรรมการ Gossip นี้มีแม้กระทั่งในลิงชิมแปนซี ดังนั้น การนินทาจึงอาจเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากแรงขับตามสัญชาตญาณเพื่อการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็ได้ หากคุณกำลังถูกเพื่อนร่วมงานเม้าท์ลับหลัง ก่อนอื่นขอให้อุ่นใจไว้ก่อนว่า ไม่ใช่คุณคนเดียวในโลกที่โดน แต่ใคร ๆ ก็โดนค่ะ แม้กระทั่งแวนเองก็เคยโดนในครั้งที่ทำงานอยู่ในองค์กร ดังนั้นขอให้คิดในทางดีไว้ก่อนว่า อย่างน้อยคุณก็ไม่ใช่บุคคลที่ถูกคนอื่นมองข้าม แต่เป็นคนที่อยู่ในสายตา เป็นบุคคลที่คนอื่นให้ความสนใจ สิ่งที่น่าลำบากใจสำหรับคุณที่สุด คงจะเป็นเรื่องการถูกนินทาในเรื่องที่ไม่ดี บางครั้งมีการตีไข่ใส่สี แต่งเรื่องเสริมเข้าไปเพื่อให้ดราม่ามันสนุกขึ้นตอนที่เม้าท์กัน ขอให้คุณคิดซะว่า นั่นเป็นการระบายความเครียดของคน และมันทำให้พวกเขารู้สึกดีกับตัวเองเวลาที่เห็นคนอื่นมีข้อบกพร่องเหมือนกัน ส่วนใหญ่เราจะพบนิสัยและพฤติกรรมแบบนี้ในคนที่ขี้อิจฉา คนที่ไม่ชอบเห็นคนอื่นได้ดีกว่า และคนที่คิดว่าการกดคนอื่นลงจะทำให้ตัวเองดูดีขึ้น อยากให้คุณเปลี่ยนทัศนคติจากความกังวลใจ เป็นความสังเวชใจและสงสารคนเหล่านั้นแทนดีกว่าค่ะ เพราะนั่นมันอาจเป็นทางระบายความเครียดไม่กี่ทางของเขา อย่างไรก็ตาม หากเรื่องราวนั้นทำให้คุณเสียหาย และไม่ใช่เรื่องจริง แนะนำให้ขอคุยตรง ๆ ว่าเหตุใดเขาจึงพูดเรื่องนี้ บางครั้ง การเคลียร์ตรง ๆ อาจทำให้เรื่องจบก็ได้ค่ะ แต่หากคุณไม่กล้าที่จะทำแบบนั้น ก็ขอให้เปลี่ยนที่ทัศนคติของคุณ อดทนอดกลั้น เงียบไว้ แล้วพอพวกเขาเบื่อหรือมีงานยุ่งมากก็จะหยุดไปเองค่ะ 3. เพื่อนร่วมงานที่ชอบเอาหน้า หลายคนอาจเคยเจอกรณีที่เพื่อนร่วมงานแอบขอความช่วยเหลือนอกรอบ ให้คุณทำงานให้ แล้วเพื่อมิตรภาพอันงดงามหรือเหตุผลอันใดก็แล้วแต่ คุณก็เต็มใจทำให้อย่างดี แต่ภายหลังคุณกลับพบว่า ผลงานของคุณถูกบรรจุในงานของเพื่อนร่วมงานคนนั้น นำเสนออย่างภาคภูมิใจ แถมยังทำท่าว่าเป็นฝีมือของตัวเองและไม่ให้เครดิตคุณซักนิด ขอให้ทำใจไว้ก่อนเลยค่ะ ว่าคนแบบนี้มีอยู่จริงและมีอยู่ทั่วไปในสังคมที่ต้องทำผลงาน คนเหล่านั้นมักไม่กล้าหาญพอที่จะยืดอกรับว่า ฉันไม่มีกึ๋นพอจะทำงานนี้สำเร็จเพียงลำพังหรอก ฉันต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น และฉันก็อ่อนแอเกินไปที่จะยอมรับว่า มีคนช่วยฉันทำงานนี้ หากคุณไม่สบายใจในข้อนี้ และถูกกระทำแบบนี้บ่อยเกินไป ข้อแนะนำคือ คุณต้องให้คนอื่นรับรู้ด้วยว่า คุณเป็นเจ้าของงานส่วนนั้น การสื่อสารและประกาศให้โลกรับรู้ไม่ใช่เรื่องผิด ตราบใดที่คุณเป็นคนลงแรงเองโดยไม่ได้ไปฉกเอางานใครมาแอบอ้าง การกล้าป่าวประกาศมันคือการแสดงจุดยืนว่า ใครอย่าได้มาแอบเนียนใช้งานฟรีโดยไม่ให้เครดิต ซึ่งเป็นการตัดตอนพวกนิสัยเสียชอบแอบเอาหน้าให้หายสิ้นไปจากที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างนั้นมีศิลปะในการสื่อสารและการป่าวประกาศ คุณอาจต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมถึงวิธีการพูดอย่างไรไม่ให้เสียมิตรภาพและดูน่าเกลียดเกินไป และขอยืนยันว่า การบอกให้คนอื่นรู้ว่างานชิ้นไหนเป็นผลงานคุณบ้าง ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดค่ะ
4. เพื่อนร่วมงานที่แทงข้างหลัง กรณีโดนเพื่อนร่วมงานแทงข้างหลัง ต่อหน้าอย่าง แต่พอเข้าตาจน หรือลับหลังกลับพูดและทำอีกอย่าง ซึ่งทำให้คุณต้องเสียชื่อเสียง เสียเครดิต หรือเดือดร้อน แบบนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งค่ะ คำแนะนำแรกคือ หากถอยห่างคนแบบนี้ได้ให้ถอยห่างออกมา และคุณควรเกิดการเรียนรู้ว่า คนคนนี้ไว้ใจไม่ได้ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแวนเชื่อว่าจะทำให้คุณฉลาด ทันคนขึ้นอีกเป็นกอง อย่างน้อยคุณต้องโดนซักครั้ง ถึงจะทำให้คุณสตรองและมีภูมิคุ้มกัน ในฐานะเพื่อนมนุษย์ บางครั้งคุณควรมีเมตตา และเข้าใจว่าทุกคนต่างต้องเอาตัวรอด และไม่มีใครอยากโดนเชือด หากมีช่องทางในการเอาตัวรอด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะใจถึงจนสามารถแทงหรือหักหลังคนอื่นได้ (ต้องเป็นคนที่จิตใจโหดเหี้ยมระดับหนึ่งทีเดียว) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมขึ้นอีก ครั้งต่อไปคุณควรเลิกให้ข้อมูลในเชิงลึกกับคนประเภทนั้นเสีย แม้ไม่แนะนำให้คุณตอบโต้หรือมีเรื่องมีราว การหลีกเลี่ยงและถอยห่างจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ อย่าลืมนะคะ ว่าเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จะน่ารักและนิสัยดีค่ะ แต่หากคุณพบเจอแต่พวกเสือสิงห์กระทิงแรดและพวกแทงข้างหลัง แสดงว่าต้องมีความผิดปกติบางอย่างในวัฒนธรรมองค์กรนั้น หรือแม้กระทั่งตัวคุณเองที่ดึงดูดแต่คนพวกนั้นมาอยู่รอบ ๆ ตัว ดังนั้นการเผ่นออกมาซะหากทำได้ อาจเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งค่ะ
5. เพื่อนร่วมงานที่เห็นแก่ตัว ด้วยภาวะการเอาชีวิตให้รอดจากที่ทำงาน จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ง่ายมากที่จะทำให้คนเราแสดงความเห็นแก่ตัวและเอาแต่ประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่เลือกที่จะไม่มีน้ำใจกับคนอื่นที่ไม่ใช่พวกของตน หรือกับคนที่ตัวเองเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ประการแรกอยากให้คุณทำความเข้าใจก่อนว่า ก่อนที่พวกเขาจะมีพฤติกรรมแบบนี้ อาจเกิดจากการที่พวกเขาได้เรียนรู้มาก่อนว่า การมีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น สุดท้ายตัวเองเหนื่อยและเดือดร้อน ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวตน กลายเป็นคนที่เย็นชา และเอาแต่ตัวเองรอดเท่านั้น หรืออาจได้รับการสั่งสอนจากรุ่นพี่หรือผู้มาอยู่ก่อน ว่าควรเห็นแก่ตัวเข้าไว้แล้วตัวเองจะรอด อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกประเภทที่มีนิสัยแบบนั้นติดตัวมาตั้งแต่แรก เป็นพื้นนิสัยดั้งเดิมของพวกเขาเอง ดังนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ยากที่จะเปลี่ยนพวกเขา ดังนั้น คุณจึงไม่ควรคาดหวังให้ใครมีน้ำใจ เป็นคนดี ช่วยเหลือคนอื่นตั้งแต่แรก หากคุณใจกว้างพอ แนะนำให้เป็นฝ่ายแสดงน้ำใจช่วยเหลือพวกเขาก่อน มีส่วนไหนที่แม้ไม่ใช่หน้าที่คุณโดยตรง แต่ช่วยเหลือได้ก็ช่วยเหลือกันไป แล้วลองดูว่า พวกเขาจะเกิดการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมหรือไม่ ไม่แน่ว่าพอเวลาผ่านไป พวกเขาอาจเริ่มเรียนรู้ว่ายังมีเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนที่มีน้ำใจและไม่จำเป็นต้องแบ่งพรรคแบ่งพวกขนาดนั้น แต่หากทำแล้วไม่ได้ผล และงานบางอย่างของคุณจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากคนเหล่านั้น คุณอาจต้องใช้วิธีขอความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจ เพื่อให้งานของคุณลุล่วงไป นี่คือวิธีคิดและแนวทางการรับมือสำหรับเพื่อนร่วมงานที่ทำให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขในที่ทำงาน แต่อย่าลืมว่า โดยพื้นฐานลึก ๆ ข้างในแล้ว ทุกคนต่างอยากทำงานในที่ที่ทุกคนเป็นมิตรและร่วมมือกันทำงาน แต่การที่พวกเขาเป็นแบบนั้นอาจเกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหล่อหลอมให้พวกเขาต้องมีเกราะป้องกันตัวเอง หากมองพวกเขาอย่างสงสารและเห็นใจ ก็จะทำให้คุณสงบใจและปล่อยวางได้มากขึ้น และคาดหวังน้อยลง แต่ความจริงคือ คนส่วนใหญ่คือเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่นิสัยไม่ดีกับคนอื่น หากพวกเขาไม่รู้ตัว การตักเตือนสักครั้งอาจทำให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่หากเป็นนิสัยดั้งเดิม การสื่อสารหรือตักเตือนอาจช่วยอะไรได้ไม่มาก เป็นได้คือหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพื่อรักษาความสงบและโฟกัสของคุณในการทำงานเพื่องานอย่างแท้จริง
และสิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ "คุณอย่ากลายเป็นเพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี" ซะเอง ก็แล้วกันค่ะ
Comments