top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
  • พิชาวีร์ เมฆขยาย

5 วิธีค้นหาตัวเอง เปลี่ยนงานน่าเบื่อให้กลายเป็นสนุก


หากใครกำลังเบื่องานและคิดว่างานตัวเองไม่ท้าทายแล้ว และอยากค้นหาตัวเอง สิ่งที่แวนอยากจะขอ คือให้หยุดและทบทวนว่า คุณได้ทุ่มเททำจน “สุด” ในงานของคุณรึยัง? คุณได้รู้ทุกซอกทุกมุมในงานรึยัง? คุณได้ทำมันจนเจ๋ง จนไม่มีใครทำได้เหมือนรึยัง? ผู้ใหญ่ที่แวนเคารพท่านหนึ่งแนะนำว่า หากเมื่อไหร่ที่รู้สึกหมดไฟ หรือต้องการแรงบันดาลใจให้ไปญี่ปุ่น เพื่อไปดูคนญี่ปุ่นทำงาน แต่ถ้าตอนนี้ยังไม่มีเวลาไป คุณก็สามารถรับแรงบันดาลใจขั้นสุดยอด จากหนังสารคดีญี่ปุ่นบางเรื่องก็ได้ค่ะ เช่น เรื่อง Jiro คนทำซูชิ หรือเรื่อง Tsukiji Wonderland เรื่องราวที่ตลาดปลา วันนี้แวนสรุปมาให้ เผื่อใครที่กำลังบ่นว่างานไม่ท้าทาย จะได้ลองเอาบางอย่างไปใช้ดูค่ะ

1. PASSION อินกับงานของตัวเองสุดๆ คนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดในอาชีพตัวเองนั้น เขา “อิน” กับงานของตัวเองสุดๆ ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไร อาชีพอะไร พวกเขาต่างรักงานของตัวเอง และ ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด “มาตรฐาน” ดูเหมือนจะเป็นคำที่ซีเรียสมากๆ เพราะหากขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานมาจากพวกเขาแล้ว รับประกันได้ว่า มันจะต้องเป็นของดี กลับมาถามตัวคุณเองว่า ทุกวันนี้คุณ “อิน” กับงานคุณแค่ไหน

2. MASTER รู้ลึกจนใครก็หลอกไม่ได้ ทำอาชีพไหนก็ต้องรู้ให้ลึกรู้ให้สุด ชนิดที่ว่าคนอื่นจะไม่มีทางรู้ดีกว่า อย่างพ่อค้าขายปลาก็รู้ชนิดที่ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ เพียงแค่มองด้วยตาเปล่า หรือสัมผัสด้วยมือ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าปลาตัวนี้คุณภาพดีแค่ไหน มีไขมันมากน้อยแค่ไหน จะรสชาติดีแค่ไหน พวกเขาแนะนำได้ว่าปลาแต่ละชนิด เอาไปทำอาหารแบบไหนถึงจะอร่อยที่สุด เชฟก็รู้วิธีแล่ปลาและเก็บรักษาปลา เพื่อให้รสชาติอยู่ในจุดที่ดีที่สุด การอดทนทำในสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ และเรียนรู้ จะทำให้คุณพัฒนาความเป็น “ปรมาจารย์” ในสิ่งที่ทำ กลับมาถามตัวคุณเองว่า คุณเป็นปรมาจารย์ในงานของตัวเองแค่ไหน บางคนบ่นว่าเบื่องาน ทั้งๆ ที่ยังมีความรู้ในงานนั้นแค่หางอึ่ง และยังไม่ทันได้พัฒนาทักษะอะไรเลยด้วยซ้ำ

3. RESPONSIBILITIES ทำให้ดีที่สุดในหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่ไม่ใช่แค่ที่เขียนไว้ใน Job Description หรือจบแค่ในหน้างานตัวเอง แต่ “หน้าที่” ในที่นี้ หมายถึงหน้าที่ในฐานะที่พวกเขาเป็นประชาชนคนหนึ่งของประเทศ ส่วนใหญ่หากใครรู้ว่างานของตัวเอง มีคุณค่ากับประเทศชาติหรือโลกนี้ยังไง จะทำให้พวกเขารักและภูมิใจในงานของตัวเองมากขึ้น อย่าถนัดแต่เรียกร้อง “สิทธิ” เรียกร้องค่าตอบแทน แต่ไม่เคยสนใจเลยว่าได้ทำ “หน้าที่” ของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง

4. VALUE เห็นชัดเจนว่าคุณค่าของงานที่ทำจะส่งไปหาใคร อย่ามองแค่งานของตัวเองส่วนเดียวแล้วจบ แต่ต้องรู้ว่า ก่อนหน้านี้งานของคุณมายังไง จากใคร ส่งต่อๆ ไปหาใคร และสุดปลายน้ำแล้ว คุณค่าของงานคุณมันจะไปสร้างผลกระทบให้กับชีวิตใครบ้าง แล้วคุณจะเห็นว่าคุณไม่ได้กำลังทำงานกระจอก แต่มันจะสร้างคุณค่าให้คนอื่นได้ อย่ามองแค่แคบๆ สั้นๆ แต่มองให้ยาวๆ ค่ะ

5. ACCOUNTABILITY รับผิดชอบผลลัพธ์ของผลงานตัวเอง ไม่ใช่สักๆ ทำส่งๆ หรือขายๆ ไปโดยไม่ห่วงคุณภาพหรือผลกระทบของคนที่ซื้อของคุณหรือได้งานของคุณไปใช้ คนขายปลาที่ตลาดปลาเลือกของดีให้คนกิน เพราะตระหนักว่าในอีกไม่กี่วัน ของที่กินลงไปเหล่านั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเซลส์ในร่างกายคนกิน หรือคนหาวัตถุดิบให้โรงเรียน ตั้งใจคัดสรรของดีและปลอดภัยให้เด็กๆ ในโรงเรียน การทำงานทุกวันนี้ คุณนึกถึงหน้าของผู้คนที่จะได้รับผลกระทบจากงานของคุณบ้างหรือไม่ อย่าประมาทว่าเป็นงานเล็กๆ นะคะ คุณค่าที่คุณส่งออกไป สร้างผลกระทบให้ใครอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ สุดท้ายแล้ว งานคุณจะสนุก มีคุณค่า ท้าทายรึเปล่า ความจริงแล้วมันเริ่มมาจากทัศนคติของคุณก่อนเลย ถ้าคนมันชอบมองแย่ ต่อให้งานดีแค่ไหน เขาก็จะบ่นหาเรื่องมาติจนได้ และเอาแต่อิจฉาว่าทำไมคนอื่นถึงได้งานดีแต่ตัวเองได้แต่งานแย่ๆ ตลอดเลย

Comments


bottom of page