- พิชาวีร์ เมฆขยาย
3 วิธีปรับ Mindset เพื่อจัดการความกลัวก่อนออกจาก comfort zone
Mindset กำหนดชีวิตคนเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ mindset จะเป็นกรอบให้กับมุมมอง วิธีคิด และวิธีการมองตนเอง มองคนอื่น และมองโลกของคุณ รวมทั้งในการจะออกจาก comfort zone ก็เช่นกัน กรอบความคิดจะกำหนดว่าคุณจะมองสิ่งนี้ว่าอย่างไร และควรจะรับมืออย่างไร
ในทางจิตวิทยา ตามแนวคิดของ Cognitive-Behavioral Therapy (CBT) เชื่อว่า Core Believes หรือความเชื่อของเรา ซึ่งในที่นี้ก็คือ Mindset จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจในการใช้ชีวิตของคนเรา เช่น หากคุณเชื่อลึก ๆ ว่า "ฉันไม่เก่ง" คุณก็จะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ แบบคนไม่มั่นใจในตัวเอง วิตกกังวลว่าตัวเองไม่เก่งพอจะทำงานที่ท้าทายได้ หรือไม่กล้าโชว์ว่าตัวเองมีความสามารถ ทำให้โอกาสในชีวิตก็มีน้อยลง เนื่องจากไม่กล้ารับโอกาสที่ท้าทาย ส่งผลให้ผลลัพธ์ชีวิตออกมาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรเหมือนคนที่ไม่เก่งจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม Mindset พัฒนาได้ ปรับเปลี่ยนได้ แต่จะใช้แรงมากแค่ไหน ใช้เวลานานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าความเชื่อนั้นฝังหัวของคุณแน่นแค่ไหน รวมถึงคุณพยายามและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนกรอบความคิดของตัวเองมากแค่ไหน
คนที่ไม่กล้าออกจาก comfort zone อาจเป็นเพราะว่าพวกเขามีความเชื่อลึก ๆ ว่า "ฉันไม่สามารถรับมือกับเรื่องใหม่ ๆ ได้" "ฉันรับมือกับความเครียดและความวิตกกังวลที่จะเกิดขึ้นไม่ได้" หรือ "ฉันทำไม่สำเร็จแน่นอน" พวกเขาจึงเลือกที่จะอยู่ในโลกใบเดิม ๆ ไม่เสี่ยง แสวงหาแต่ความมั่นคง ชีวิตนิ่ง ๆ เดิม ๆ เป็น routine ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัยและรับมือได้
มาดูกันว่า หากคุณมีเข้าข่ายจะมี core believes หรือความเชื่อแบบที่ว่ามานี้ จนคุณไม่กล้าพาตัวเองออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง จะมีวิธีง่าย ๆ ไหนที่คุณทำได้ไม่ยากบ้าง
1. ทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการใหม่ ๆ บ้าง
กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคุณซักนิดด้วยการคิดหาวิธีการทำสิ่งเดิม ๆ ด้วยวิธีการใหม่ ๆ เช่น คุณแปรงฟันด้วยมือข้างที่ถนัดมาตลอดทั้งชีวิต ลองเปลี่ยนมาแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัดดูบ้าง หรือลองเปลี่ยนขั้นตอนการอาบน้ำ ที่เดิมคุณอาจจะแปรงฟันก่อน แล้วค่อยสระผม แล้วอาบน้ำ คุณก็ลองสลับขั้นตอนก่อนหลังดูใหม่ หรือจากเดิมที่ทำงานชิ้นหนึ่งด้วยตัวเองมาตลอด ลองเปลี่ยนเป็นอธิบายให้คนอื่นฟังและขอให้เขาคนนั้นทำแทนคุณ
นวัตกรรมเกิดจากการคิดในมุมมองใหม่ ทดลองสิ่งใหม่ ๆ วิธีการนี้นอกจากจะทำให้คุณสนุกไปกับการออกแบบวิธีใหม่ ๆ ให้กับกิจวัตรเดิม ๆ แล้ว ยังทำให้คุณคุ้นเคยกับการทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เริ่มเบื่อกับความจำเจ เริ่มท้าทายตัวเองด้วยสิ่งใหม่ และอาจทำให้คุณค้นพบนวัตกรรมบางอย่าง หรือค้นพบวิธีทำสิ่งเดิมให้ง่ายและเร็วขึ้นก็ได้
2. รับโอกาสทำงานที่ยากขึ้นอีกนิด เครียดขึ้นอีกหน่อย รับผิดชอบมากขึ้นเล็กน้อย
งานยากจะบีบให้คุณพัฒนา ความไม่มั่นคงจะกดดันให้คุณต้องทำตัวเองให้เก่งพอและแกร่งพอ เพื่อพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน ไม่เฉพาะแต่ฝีมือในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่ยังรวมถึงความสามารถด้านจิตใจที่จะรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล ความล้มเหลว ความเสียใจ และความไม่สบาย
อย่าลืมว่าในการใช้ชีวิตทุกวันนี้ทุกคนต่างต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค ความยาก ความผิดพลาด ความล้มเหลว และการถูกปฏิเสธทั้งนั้น แต่ความรู้สึก มุมมอง และการรับมือของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป และคุณสามารถปรับวิธีคิดและมุมมองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงที่จะสร้างบทเรียนและประโยชน์ให้กับตัวคุณ มองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ มากกว่าจะตราหน้าตัวเองซ้ำ ๆ ว่าฉันเป็นคนไม่ได้เรื่อง ฉันทำไม่ได้
เมื่อคุณเริ่มกล้ารับโอกาสที่ท้าทายขึ้น แล้วคุณทำได้ดี หรือทำสำเร็จ จุดนี้จะทำให้คุณเริ่มสนุก เริ่มสร้างความมั่นใจในตัวเองไปอีกขึ้น และเมื่อทำสิ่งนั้นได้คล่องแล้ว คุณจะเริ่มแสวงหาความท้าทายขึ้นไปอีกขั้น เป็นการทลายกรอบความเชื่อที่ว่า คุณทำไม่ได้ คุณรับมือกับความเครียดไม่ได้ ออกไปทีละเล็กละน้อย
3. หาหลักฐานจากคนอื่นมาพิสูจน์ว่าการออกจาก comfort zone คือโอกาส
ความกลัวเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการขัดขวางไม่ให้คนเรากล้าออกไปใช้ชีวิต เพราะหากเกิดความผิดพลาด ก็อาจจะสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม ระดับความกลัวของแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่งผลให้แต่ละคนกล้าเสี่ยงไม่เท่ากันด้วย
หากคุณต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณลองเริ่มมองหาหลักฐานจากคนอื่นที่กล้าทำสิ่งใหม่ แล้วสุดท้ายพวกเขาก็ได้รับผลตอบแทนจากความกล้าและความพยายามนั้น จากหลาย ๆ คน เรียนรู้ว่าพวกเขามีวิธีคิดอย่างไร รับมือกับความเครียดอย่างไร และจัดการความกลัวตัวเองอย่างไร ผ่านอุปสรรคมาได้อย่างไร จนกระทั่งประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นหลักฐานมาทลายความเชื่อที่ฝังหัวของคุณว่า การออกไปเสี่ยงในโลกที่ไม่รู้จักนั้นน่ากลัวและไม่มีทางรอด
ทั้งสามข้อนี้เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่ให้คุณได้ลองทำสะสมไปเรื่อย ๆ เพื่อค่อย ๆ เปลี่ยน mindset ของตัวคุณเอง รวมทั้งลดความกลัวด้วยการพัฒนาตัวเอง ทำตัวเองให้มีทักษะ แล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณจะรับมือได้ และเติบโตได้แน่นอน
จำไว้ว่า ... การสร้างความมั่นคงคือหน้าที่ของคุณเอง
Comments