top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
  • พิชาวีร์ เมฆขยาย

5 วิธีเอาชนะความกลัวการนำเสนอ (Glossophobia )


การนำเสนอ

เป็นเรื่องธรรมดาหากคุณจะเกิดความกลัวหากต้องมีการนำเสนอหรือการพูดในที่สาธารณะ โดยเฉพาะต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะหากคุณเป็นคนประเภท Introvert ที่เก็บตัวและไม่ชอบแสดงออก ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ หรือกลัวการถูกสายตาคนอื่นจับจ้อง หรือโดนวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับความจริงกันก่อนว่า การนำเสนอที่ดีจะช่วยให้หน้าที่การงานของคุณก้าวหน้าเติบโต ธุรกิจเติบโต ขายงานลูกค้าได้ ขายไอเดียให้ทีมงานได้ หรือแม้กระทั่งสามารถโน้มน้าวใจคนหมู่มากได้ แต่หากการจะทำแบบนั้นได้ คุณจำเป็นต้องไปยืนต่อหน้าผู้คนจำนวนหนึ่ง แล้วพูดในสิ่งที่ควรพูดออกไป ซึ่งตรงจุดนั้นนั่นเองที่ความกลัวเกิดขึ้น Glossophobia ความกลัวการนำเสนอ หรือความกลัวการพูดในที่สาธารณะ เป็นความกลัวที่มักเกิดกับคนหลาย ๆ คน มีการคาดการณ์กันว่า ผู้คนจำนวนถึง 25% - 75% ที่เกิดภาวะนี้ โดยความกลัวนั้นเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณในการต้องการจะปกป้องตัวตนของคนคนนั้นจากการถูกตัดสิน การถูกคุมคาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครที่เคยพูดนำเสนอแล้วรู้สึกล้มเหลวไม่เป็นท่า กำแพงความกลัวนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก อาการของความกลัวนี้ มีตั้งแต่การประหม่าเล็ก ๆ มือสั่น เสียงสั่น หน้าแดง พูดไม่ออก สมองตื้อ เหงื่อออกมือออกเท้า ปากแห้ง ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น วิตกกังล ไปจนถึงมีอาการแพนิคเต็มขั้น สาเหตุของความกลัวการนำเสนอ ระดับความกลัวไม่ได้สัมพันธ์กับคุณภาพหรือความสามารถในการพูดของคนคนนั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่า คุณรู้สึกและมีทัศนคติอย่างไรต่อการพูดนั้นมากกว่า โดยมากความกลัวจะเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งบางครั้งอาจมีเรื่องของพันธุกรรมร่วมกันกับ สภาพแวดล้อม กายภาพ ร่างกาย และเหตุผลทางใจ โดยมากคนที่กลัวการนำเสนอมักจะเป็นพวกที่กลัวจะขายหน้าหรือถูกปฏิเสธจากคนอื่นและสังคม นักจิตวิทยามีการแบ่งสาเหตุหลัก ๆ ของความกลัวการนำเสนอ ดังนี้ 1. ร่างกาย เวลาที่คนเราเกิดความวิตกกังวลนั้น สมองในประสาทส่วนกลางจะถูกกระตุ้นเพื่อให้ร่างกายพร้อมรับกับภัยต่าง ๆ ที่จะเข้ามา แต่ภาวะที่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (hyperarousal) จะทำให้เกิดความรู้สึกกลัว ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการแสดงออกของคนเราลดลง ความวิตกกังวลยิ่งมาก จะยิ่งทำให้มีสมาธิ ความจำ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง ยิ่งบางคนอาจเกิดภาวะของความวิตกกังวลต่ออาการวิตกกังวลของตัวเอง (anxiety sensitivity) เข้าไปอีก (หมายถึง คนที่วิตกกังวลว่าตัวเองกำลังมีอาการวิตกกังวล) ก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง 2. ความคิด ความคิดและทัศนคติของผู้พูดมีผลต่อความกลัว หากยิ่งคุณประเมินผู้ฟังว่ามีอำนาจ และมีภาวะคุกคาม พร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์คุณในฐานะผู้พูดมากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งเกิดความกลัว เมื่อรวมกับมุมมองที่ว่า ตนเองเป็นคนพูดไม่เก่ง พูดน่าเบื่อ บุคลิกภาพไม่ดี ก็จะยิ่งรู้สึกกลัวออกมามากเท่านั้น โดยมากความกลัวนี้จะได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์การนำเสนอในอดีตด้วย หากเคยล้มเหลวหรือมีความทรงจำที่แย่จากการนำเสนอ ก็มีโอกาสที่จะก่อความกลัวเพื่อยับยั้งไม่ให้ตัวเองไปขายหน้าหรือถูกหัวเราะเยาะอีก หรืออีกกรณีหนึ่งคือการที่เคยถูกให้ขึ้นพูดต่อหน้าผู้คนโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนก็มี ในทางจิตวิทยาสามารถแบ่งการโฟกัสออกเป็น 2 แบบ คือ แบบโฟกัสที่การแสดงออก และแบบโฟกัสที่การสื่อสาร หากคุณโฟกัสในแบบแรก คุณจะกังวลอยู่กับท่าทาง มือไม้ เสื้อผ้า หน้าผม และสายตาที่คนอื่นอาจจับจ้องคุณมากเท่านั้น แต่หากคุณโฟกัสในแบบหลัง คุณจะมุ่งเน้นไปที่เนื้อหา แนวคิด และการเล่าเรื่อง คุณจะมองผู้ฟังว่าคือคนที่ฟังคุณทั่วไป การพูดก็เหมือนพูดให้คนอื่นฟังในชีวิตประจำวัน ทำให้คุณนำเสนอได้อย่างกังวลน้อยกว่านั่นเอง 3. สถานการณ์ ส่วนประกอบด้านบริบทในสถานการณ์ ณ ขณะนั้นมีผลต่อความกลัวและวิตกกังวลของคุณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีประสบการณ์ในการพูดน้อยเกินไป ความกลัวก็จะยิ่งมาก อย่าลืมว่าชั่วโมงบินเพิ่มความมั่นใจ ความเข้มข้นของการประเมินก็มีส่วน ยิ่งคุณรับรู้ว่าคนฟังกำลังประเมินและตัดสินคุณมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งกลัวและประหม่ามากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ หากคนฟังมีสถานะที่สูงกว่าคุณ เช่น ผู้บริหารที่มีตำแหน่งสูงกว่า กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จด้านอาชีพมากกว่า เป็นต้น คุณก็จะยิ่งกลัวมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งหากกลุ่มคนฟังเป็นคนแปลกหน้าที่คุณไม่คุ้นเคย หรือแตกต่างจากกลุ่มคนที่คุณนำเสนออยู่เสมอ ก็มีแนวโน้มจะทำให้คุณกลัวมากขึ้น เรื่องที่จะพูดก็มีผลเช่นกัน หากเรื่องที่นำเสนอเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคุณ ก็จะยิ่งกังวลในการนำเสนอไอเดีย การอธิบาย และการตอบคำถาม 4. มุมมอง มุมมองหรือ Mindset ของคุณก็มีผลเช่นกัน ความเชี่ยวชาญนั้นสอดคล้องกับชั่วโมงบิน หากคุณมองว่าตนเองฝึกฝนทักษะการนำเสนอมามากพอ ความกังวลของคุณจะลดลง ยิ่งมีทักษะมากก็จะยิ่งมั่นใจ รวมถึงคนที่มี Growth mindset จะกลัวน้อยลง เพราะมองว่าการนำเสนอแต่ละครั้งคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความผิดพลาดแต่ละครั้งคือบทเรียนให้พัฒนาตัวเองต่อไป ต่างจากคนที่มี Fixed mindset ที่ให้ความสำคัญกับพรสวรรค์ที่ติดตัวมา พวกเขาเชื่อว่า หากนำเสนอไม่ดี แปลว่าไม่มีพรสวรรค์ด้านนี้ตั้งแต่แรก แต่คนที่นำเสนอเก่งนั่นเป็นเพราะเขามีพรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่แรก

วิธีเอาชนะความกลัวการพูดในที่สาธารณะ หากคุณไปค้นหาวิธีเอาชนะความกลัวการพูดในที่สาธารณะ คุณคงจะได้เทคนิคมาเป็นร้อย ๆ วิธี สิ่งสำคัญคือคุณต้องหาวิธีที่ถูกจริตกับตัวคุณเอง ครั้งนี้แวนสรุปวิธีที่ใช้แล้วได้ผลจริงมาฝาก สำหรับใครที่กลัวการนำเสนอ ซึ่งเน้นในเรื่องของวิธีคิด และหลักปฏิบัติทั่วไป แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเทคนิคหรือกลยุทธ์ ซึ่งคุณสามารถ search หาจากแหล่งอื่น ๆ ได้ 1. ปรับมุมมองต่อตนเองก่อน หลายคนที่กังวลก็เพราะมองว่าตัวเองพูดไม่เก่ง นำเสนอไม่น่าสนใจ หรือพูดไม่รู้เรื่อง หากปล่อยให้ความคิดนี้วนเวียนในขณะพูดในที่สาธารณะ ก็จะยิ่งรบกวนสมองทำให้การนำเสนอยิ่งแย่ลง จำไว้ว่าไม่มีใครลืมตาดูโลกแล้วพูดเก่งเลย ทุกคนก็ต้องผ่านการฝึกมาแล้วทั้งนั้น และคุณเองก็เหมือนคนอื่น ๆ ที่สามารถเป็นคนนำเสนอที่เก่งกาจได้ หากพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้นการพูดนำเสนอในแต่ละครั้ง คือการเก็บประสบการณ์และเก็บบทเรียน เพื่อนำจุดที่ต้องปรับปรุงมาแก้ไขในการนำเสนอครั้งต่อไป สร้าง Growth Mindset ให้ตัวเอง โดยเชื่อว่าทุกคนจะพัฒนาได้ การล้มเหลวในบางครั้ง ไม่สามารถนำมาตัดสินตัวเองได้ว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง ทุกคนก็ต้องเคยผ่านการนำเสนอที่ไม่ได้เรื่องมาแล้วทั้งนั้น แต่คนที่เก่งนั่นเพราะเขาเรียนรู้และปรับปรุงจนดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง 2. เตรียมตัวและซักซ้อมให้พอ จากประสบการณ์ส่วนตัวของแวนที่ต้องพูดในที่สาธารณะอยู่เสมอนั้น มองว่าการเตรียมตัวและฝึกซ้อมให้ดีก่อนขึ้นพูดจริงนั้นช่วยลดความวิตกกังวลได้เยอะมากจริง ๆ เพราะหากไม่ได้เตรียมตัวให้ดีหรือไม่ได้ซ้อม เราก็จะรู้อยู่แก่ใจและทำให้กังวลเมื่ออยู่หน้างานจริง การเตรียมตัวที่ดี และการซ้อมจำนวนหลาย ๆ ครั้งทำให้คุณเกิดความเคยชินกับสิ่งที่เหมือนเคยทำซ้ำ ๆ มาแล้ว จะช่วยลดความวิตกกังวลได้มาก และไม่ต้องกลัวที่จะต้องไปด้นสดตอนที่นำเสนอจริง หากเตรียมตัว คุณจะมีเวลาเรียบเรียงเนื้อหา ลำดับการนำเสนอ เลือกคำพูดที่ใช้ในการเล่าเรื่อง ซักซ้อมท่าทาง รวมถึงค้นหาภาพหรือทำสไลด์ที่ช่วยสนับสนุนการพูดของคุณ นักพูดมืออาชีพ หรือวิทยากรที่เก่งระดับโลกที่คุณเห็น เบื้องหลังพวกเขาคือการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง ที่มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว สิ่งที่คุณเห็นนั้นเป็นความสำเร็จปลายทางที่เป็นผลลัพธ์ คำถามคือ เมื่อคุณต้องการให้การนำเสนอออกมาดี แล้วคุณได้เตรียมตัวและฝึกฝนมาดีพอแล้วรึยัง 3. เรียนรู้ให้มาก การมองหาตัวอย่างที่ดีและ Role Model ส่วนตัวของคุณจะทำให้คุณเห็นภาพมากขึ้นว่าการนำเสนอที่ดีควรเป็นอย่างไร ทั้งเนื้อหา วิธีการเล่า การใช้คำ การออกเสียง หน้าตา น้ำเสียง ท่าทาง รวมทั้งการแต่งกาย ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของมือสมัครเล่นนั้น การเลียนแบบ Role Model ที่ประสบความสำเร็จแล้วไปก่อน จะช่วยได้มาก นอกจากนี้คุณเองยังต้องคอยหาโอกาสในการได้ขึ้นพูดนำเสนอบ่อย ๆ ไม่ว่างานเล็กน้อย การพูดสั้น ๆ แค่ไหน ก็ควรยกมืออาสาให้ได้พูดเสมอ เพื่อให้เคยชินกับการนำเสนอต่อหน้าผู้คน และคอยเก็บบทเรียนส่วนที่ต้องปรับปรุงมาพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง แต่หากคุณหาโอกาสได้ยาก คุณอาจใช้วิธีพูดนำเสนอผ่านกล้อง ซึ่งคุณสามารถใช้มือถือของคุณอัดคลิปการนำเสนอของคุณไว้ เพื่อนำกลับมาดูเพื่อแก้ไขส่วนที่ต้องปรับปรุงต่อไป และเป็นการฝึกให้เคยชินกับการนำเสนอด้วย อีกทั้งคุณควรหาอ่านหนังสือที่สอนเทคนิคที่ได้ผล หรือหาคลิป youtube ที่สอนในเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งลงเรียนสัมมนาหรือคอร์สออนไลน์ที่สอนเทคนิคและวิธีการที่ใช้ได้ผล 4. โฟกัสที่การสื่อสารให้คนเข้าใจ หลายคนที่ประหม่าและกลัว นั่นเพราะพวกเขาโฟกัสที่ตัวเอง กลัวว่าคนอื่นจะมองตนเองอย่างไร กลัวถูกหัวเราะเยาะ วิพากษ์วิจารณ์ หรือตัดสินจากคนฟัง จึงมัวแต่พะวงกับท่าทาง การแต่งตัว น้ำเสียง หรือแม้กระทั่งการประดิษฐ์คำให้ดูดี จนลืมเรื่องประสิทธิผลของเนื้อหาและการสื่อสาร สิ่งที่จะช่วยได้คือการตั้งเป้าหมายที่ทำให้คนฟังเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการให้เขาเข้าใจแทน ความปรารถนาที่จะทำให้คนฟังได้ประโยชน์กลับไปมากที่สุด และโฟกัสไปที่เนื้อหาแทนตัวของคุณเอง สำคัญที่สุดคือการปล่อยวาง ไม่ว่าคนฟังจะคิดกับคุณอย่างไรนั่นคือเรื่องของเขา เขาจะยอมรับคุณได้หรือไม่นั่นคือเรื่องของเขา คุณควบคุมไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญมากไปกว่าผลลัพธ์ของการนำเสนอ 5. เป็นตัวของตัวเอง อย่าประดิษฐ์มากเกินไป ทั้งท่าทาง น้ำเสียง หรือคำพูด การเป็นธรรมชาติจะทำให้การนำเสนอลื่นไหลและน่าฟังมากกว่า เมื่อคุณเป็นตัวของตัวเอง คุณจึงไม่ต้องพะวงในเรื่องการปรับแต่ง และโฟกัสที่เนื้อหาและการสื่อสารมากขึ้น หากคุณไม่ใช่คนตลกก็ไม่ต้องพยายามตลก หากคุณเป็นคนจริงจังก็ไม่ต้องพยายามทำให้ดูร่าเริงจนเกินเหตุ จงเป็นตัวของตัวเอง ในแบบที่ดีที่สุด ซึ่งคนฟังเองก็มีความชอบที่หลากหลายและเข้าใจดีกว่าคนพูดเองก็มีหลากหลายบุคลิกภาพ เหล่านี้คือคำแนะนำในการเอาชนะความกลัวการนำเสนอและการพูดในที่สาธารณะ ที่คุณนำไปใช้ได้จริง และรับรองว่าได้ผลจริง อย่าลืมว่า Practice makes perfect. การฝึกฝน (จนชำนาญ) ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคุณแน่นอน

bottom of page