- พิชาวีร์ เมฆขยาย, นักจิตวิทยาองค์กร
5 วิธีรับมือกับความรู้สึกว่าฉันไม่ดีพอ
“คนที่รักตัวเอง คือ คนที่รู้สึกชอบตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และยอมรับตัวเองในแบบที่ไม่สมบูรณ์แบบได้”
- Michael Kernis นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน
หากคิดว่าฉันไม่คู่ควรกับการมีความสุข ฉันไม่คู่ควรกับชีวิตที่ดี ฉันไม่คู่ควรกับคนดีๆ คนอย่างฉันคงไม่ประสบความสำเร็จ หรือคนอย่างฉันคงไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตเองได้ นั่นสะท้อนถึงการมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง Low Self-esteem และจะยิ่งทำให้คุณจัดการกับความกดดันและความเครียดที่เข้ามาในชีวิตได้ยากขึ้น การเปรียบเทีียบตัวเองกับคนอื่น จะยิ่งทำให้ Self-esteem ของคุณลดลงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในโลกใบนี้ย่อมมีคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคุณ หน้าตาดีมากกว่า ได้กินอยู่เที่ยวหรูกว่า ขับรถแพงกว่า แฟนหน้าตาดีกว่า หรือมีความสามารถมากกว่าคุณเสมอ แม้ในตอนนี้คุณกำลังมีชีวิตที่ดีมากอยู่ก็ตาม แต่คุณจะไม่ตระหนักและเอาแต่เสียใจเพราะสู้ใครบางคนไม่ได้ คนไทยมักถูกสอนให้ถ่อมตัว อย่าทำตัวเด่นหรืออวดอ้างตัวเองมากเกินไป นั่นคือสิ่งที่ดี แต่หากคุณถ่อมตัวเองมากเกินไป มากซะจนคนอื่นมาดูถูกหรือกดหัว หรือจนคุณไม่มีโอกาสได้พูดหรือแสดงความสามารถออกมาเลย นั่นถือว่าอันตรายและไม่ใช่สิ่งที่ดี คนเราถ่อมตัวได้ นั่นคือมารยาทที่น่ารักในสังคม แต่ข้างในคุณต้องเห็นว่าตัวเองมีคุณค่า มีความดีงาม และมีความสามารถอย่างไร จำไว้ว่าพื้นฐานของความสำเร็จคือความมั่นใจว่าตัวเองทำได้ ซึ่งก็ต้องเกิดจากการมองเห็นว่าตัวเองมีดีพอก่อน
มาทดสอบตัวเองคร่าว ๆ ว่าคุณมี Self-esteem อยู่ในระดับไหน Level 1
Self-esteem ระดับต่ำเกินไป อาการที่เห็นได้:
รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
ไม่สนใจดูแลหรือพัฒนาตัวเอง
ซึมเศร้า เศร้าหมอง
มีภาวะความเครียดและความกดดันสะสม
Level 2
Self-esteem ระดับต่ำ อาการที่เห็นได้:
รู้สึกไม่มั่นคง
เปราะบาง
ไม่กล้าแสดงออก
มักเครียดและกดดันตัวเอง
Level 3
Self-esteem ระดับที่เหมาะสม อาการที่เห็นได้:
มั่นใจในตัวเอง
ประเมินตัวเองและมองโลกตามความเป็นจริง
มีความสุขกับชีวิต
สามารถจัดการอารมณ์และความเครียดตัวเองได้
Level 4
Self-esteem ที่ล้นเกินไป อาการที่เห็นได้:
ชอบโอ้อวดตัวเอง อีโก้สูง
ปกป้องตัวเอง ตัวเองไม่ผิด
ไม่เป็นมิตร
เครียดเพราะบางอย่างไม่ได้ดังใจ
ใน 4 ระดับบน Self-esteem Spectrum นี้ คุณลองพิจารณาตัวเองตามความเป็นจริง เพื่อให้รู้ตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง
วิธีเพิ่มความรู้สึกดีกับตัวเอง นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Guy Winch ได้แนะนำวิธีการง่าย ๆ ที่คุณทำได้เลย และจะช่วยเพิ่ม Self-esteem ให้กับตัวเองได้ 1. อย่าชมตัวเองด้วยคำพูดกว้าง ๆ อย่าพูดชมตัวเองหน้ากระจกด้วยคำพูดที่แม้แต่คุณเองก็ยังไม่เชื่อ หรือใช้คำพูดที่กว้างเกินไปที่ไม่สามารถทำให้คุณเชื่อได้ เช่น “ฉันยอดเยี่ยมที่สุด” คำพูดพวกนี้กว้างดั่งแม่น้ำ และไม่ช่วยให้คุณเห็นภาพตัวเองที่เป็นรูปธรรมเลย ซึ่งจะไม่มีประโยชน์อะไร ลองปรับเป็น “ฉันเป็นคนใจดี” หรือ “ฉันเป็นคนมุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมาย” แบบนี้จะทำให้คุณเชื่อได้มากกว่า สิ่งสำคัญคือต้องเป็นเรื่องจริงที่คุณรู้สึกได้ 2. หาจุดแข็งและข้อดีให้เจอ เก่งซักเรื่อง เอาดีซักทาง คนเราไม่เหมือนกัน มีความสามารถที่แตกต่างกัน หากคุณรู้ตัวเองว่ามีดีเรื่องไหน คุณจะเปรียบเทียบกับคนอื่นน้อยลง อิจฉาคนอื่นน้อยลง 3. ทำสิ่งที่ทำได้ดีบ่อย ๆ สิ่งไหนที่คุณมีความสามารถ ทำได้ดี คุณควรหาโอกาสได้ทำสิ่งนั้นเสมอ หรือเป็นงานหลักของคุณได้ยิ่งดี เพราะผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระทำยิ่งแสดงออกมาเป็นรูปธรรม ก็จะยิ่งเป็นหลักฐานให้เห็นว่าคุณมีดี 4. ยอมรับคำชม อย่าเอาแต่ปฏิเสธหรือผลักไสคำชม เพราะกลัวคนอื่นหมั่นไส้หรือจะดูไม่งาม จำไว้ว่าการยอมรับสิ่งที่คนอื่นชมไม่ใช่สิ่งผิด และส่วนใหญ่คนที่ชมก็อยากให้ด้วยใจจริง ครั้งต่อไปไม่ต้องรีบปฏิเสธ แต่พูดออกไปว่า “ขอบคุณ” พร้อมกับยิ้มรับ ก็เพียงพอ 5. สร้างหลักฐานว่าคุณมีคุณค่า การลงมือทำจะช่วยสร้างหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ถึงแม้บางครั้งทำไปพลาดไป ท้อบ้าง แต่คุณจะเห็นความก้าวหน้าของตัวเอง ยืนยันด้วยการช่วยเหลือคนอื่น ทำในสิ่งที่ถนัด และชื่นชมกับด้านดีๆ ในชีวิต จะช่วยยืนยันว่าคุณเป็นคนมีคุณค่า
>> ทางเลือกในการพัฒนา Self-esteem ที่ง่ายและทำได้ทันที ข้อสังเกตเพิ่มเติมคือการดูแลตัวเองและสภาพแวดล้อมให้ดูดี จัดบ้าน โต๊ะทำงานในแบบที่คุณรู้สึกว่าคู่ควรกับสิ่งนั้น นักจิตวิทยายืนยันว่า บ้านที่รกรุงรังจะยิ่งทำให้จิตใจคุณหยุ่งเหยิงและหมองเศร้า นอกจากนี้ Neel Burton จิตแพทย์ชาวอังกฤษยังแนะนำให้คุณติดภาพหรือประกาศนียบัตรที่เป็นสิ่งยืนยันคุณค่าของคุณ จะช่วยได้มากเช่นกัน
ที่มา จากหนังสือ Stress: The Psychology of Managing Pressure (2018)
Comments