- พิชาวีร์ เมฆขยาย
ครูในวัยเด็กกำหนดบุคลิกภาพของคนเราอย่างไร
ทำไมโลกโซเชียลจึงสนใจเรื่องที่ครูตรวจการบ้านวิชาเลขผิด?
หลายคนคงได้อ่านโพสที่มีผู้ปกครองเด็กโพสรูปการบ้านที่มีโจทย์คณิตศาสตร์ที่เด็กตอบคำถามได้ถูกต้อง แต่คุณครูกลับตรวจแล้วบอกว่าคำตอบผิด หลายคนตำหนิว่า แค่ครูตรวจการบ้านพลาด ทำไมต้องโพสประจานกันขนาดนี้
ความจริงแล้วทุกอาชีพผิดพลาดได้ทั้งนั้น และคุณครูก็มีโอกาสทำผิดพลาดได้เช่นกัน แต่ประเด็นสำคัญคือเหตุการณ์หลังจากนี้ต่างหาก ว่าคุณครูจะทำอย่างไรในฐานะที่ตนเองให้คำตอบเด็กไปผิด ๆ
วัยเด็กถือว่าเป็นวัยที่อ่อนไหวมากต่อคำพูดและการกระทำของผู้ใหญ่รอบข้างเขา และเป็นช่วงเวลาของการสร้างตัวตน เราไม่มีสิทธิ์รู้เลยว่าเหตุการณ์เล็กน้อยเหตุการณ์ไหนที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต หรือสร้างปมให้กับเด็กไปตลอดกาล
จากที่เด็กคนนี้ตั้งใจทำการบ้านและทำถูกต้อง แต่กลับได้รับคำตอบจากครูของตัวเองว่าเขาเป็นฝ่ายผิด (ผู้ปกครองก็ระบุในโพสว่า เด็กเสียใจ) หากเด็กไม่ได้รับการขอโทษจากคุณครูแล้วบอกว่า “นักเรียนทำถูกแล้ว ครูตรวจผิดเอง ครูขอโทษ” เลวร้ายที่สุด ผลลัพธ์อาจทำให้เด็กคนนี้เกลียดวิชาคำนวณไปตลอดชีวิต ทั้งที่เขามีแววว่าจะเก่งด้านนี้ก็ได้ และเด็กอาจสูญเสียความมั่นใจกลายเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงความสามารถไปอีกนานแสนนาน
กรณีของแวนเองก็เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับคุณครูในช่วงประถมศึกษาเช่นกัน แต่ในทางที่ดี ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่แวนจะได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งหากเป็นการสอนทั่วไปจะต้องสอนตามตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่คุณครูคนนี้ย้ายเข้ามาใหม่มีวิธีการสอนที่แปลกไป คือคุณครูจะเริ่มด้วยการสอนนิทาน ให้เด็กๆ ฝึกฟัง ฝึกพูด ฝึกอ่าน และฝึกเขียน ตามด้วยการให้ทำสมุดภาพนิทาน พร้อมวาดภาพระบายสีประกอบนิทาน และจัดประกวดวาดภาพนิทานเป็นกลุ่มอีกด้วย ทำให้แวนและเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ สนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนิสัยและทัศนคติที่ชอบภาษาอังกฤษ รักการเรียนภาษาอังกฤษ และมีพัฒนาการด้านภาษาอังกฤษที่ไปเร็วกว่าเด็กทั่วๆ ไปในรุ่นเดียวกัน และส่งผลมาจนถึงปัจจุบันที่สามารถฟังพูดอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้คล่อง อันเนื่องมาจากจุดเริ่มต้นของประสบการณ์การเรียนภาษาอังกฤษครั้งแรกกับคุณครูคนนั้น
จะเห็นได้ว่าคุณครูและบุคคลที่แวดล้อมเราในวัยเด็กมีอิทธิพลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเราอย่างมาก และมีกรณีมากมายที่เด็กมีเหตุการณ์ฝังใจจนกลายเป็นปมในชีวิต เปลี่ยนบุคลิกภาพของคนคนนั้นไปเลยก็มี เราไม่รู้เลยว่าแค่คำพูดหรือการกระทำเพียงเล็กน้อยอาจสร้างให้เด็กกลายเป็นอีกคนที่ไม่ควรจะเป็น
ดังนั้น หมดยุคของการแสดงอำนาจและบังคับให้เด็กต้องเชื่อตามผู้ใหญ่อีกต่อไป แต่ควรจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิด เป็นตัวของตัวเอง และมีโอกาสได้ชี้แจง ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตัวเด็กได้
ในยุคที่ทุกอย่างหมุนเร็วมาก การจะสร้างเด็กยุคใหม่ที่จะเป็นอนาคตควรส่งเสริมให้เด็กมีความเชื่อมั่นในความคิดและความสามารถของตัวเอง รวมทั้งมีความสามารถในการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยต่างหาก
สุดท้ายก็กลับมาที่หลักกาลามสูตรที่ว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา” ที่ยังใช้ได้เสมอ
Comments