top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
  • พิชาวีร์ เมฆขยาย, นักจิตวิทยาองค์กร

4 วิธีประสบความสำเร็จแม้ในงานที่ไม่ได้รัก


ข้อคิดในการทำงาน

“จงรักงานที่ทำ” คำที่พูดง่ายแต่ทำได้ยากสุด ๆ เพราะอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ หากลองได้เกลียดหรือแค่รู้สึกไม่รัก ไม่ตื่นเต้นกับอะไรแล้ว ก็ยากที่คนเราจะมีความหลงใหลหรือทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นอีก โดยเฉพาะกับคนที่อารมณ์ศิลปิน ใช้อารมณ์ความรู้สึกนำเหตุผลด้วยแล้ว ยุคสมัยนี้ยิ่งมีไอดอลที่ต่างตบเท้าออกมาบอกว่าคุณต้องมี ‘ความหลงใหล’ (Passion) ในสิ่งที่ทำ เพื่อจะผลักดันไปให้สุด ก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ นานาไปให้ได้ ซึ่งจะทำให้คุณกล้า แกร่ง อึด และเพียรพยายามมากกว่าปกติ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า หากไม่ใช่ในระดับที่จะเปลี่ยนโลกอะไรขนาดนั้น คุณก็สามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำอยู่ แม้คุณจะไม่รู้สึกรักหรือหลงใหลก็ตาม ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คุณทำได้ และทำจนจบตลอดรอดฝั่ง คือ คุณต้องรักษาแรงจูงใจของตัวเองให้ได้สม่ำเสมอ (Self-motivation) และสิ่งนี้เองที่จะแบ่งแยกคนสำเร็จโดดเด่นออกจากคนธรรมดาทั่วไป ความเป็นจริงคือ การรักษาระดับแรงจูงใจให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำนั้นโหดหินยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ที่แม้แต่คาเฟอีนในกาแฟเข้ม ๆ หรือคำคมให้แรงบันดาลใจไหน ๆ ก็เอาไม่อยู่ เพราะความขี้เกียจหรือการใฝ่หาสิ่งที่ทำให้เราสบายใจนั้น เป็นเหมือนแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดไม่ให้คนเราลอยหนีออกไปให้พ้นจากภาวะนั้นได้ มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนที่จะช่วยรักษาระดับ Self-motivation ของคุณให้คงอยู่จนกระทั่งพาคุณให้ลงมือทำในสิ่งที่แม้ไม่รักจนสำเร็จและต้องทำได้ดีด้วย 1. เอาชนะความไม่อยากทำด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนสุด ๆ หน่วยงานวิจัยที่ชื่อว่า Ample ค้นพบความสำคัญของการตั้งเป้าหมาย ในกลุ่มพนักงานขายด้วยกัน คนที่มีตัวเลขเป้าหมายรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีชัดเจน จะปิดการขายได้มากกว่า คนที่มีเป้าหมายตัวเลขน้ำหนักที่ชัดเจน จะเข้าฟิตเนสหรือออกกำลังกายสม่ำเสมอกว่าคนที่ไม่ตั้งเป้าหมาย แต่การตั้งเป้าหมายลอย ๆ แค่ “ทำให้ดีที่สุด” หรือ “ดีขึ้นกว่าเดิม” ไม่ได้ช่วยให้เกิดผลอะไร แต่คุณจำเป็นต้องบอกออกมาให้เป็นรูปธรรม เป็นตัวเลขที่คุณจะมองเห็นตัวเองอย่างชัดเจนว่า ตอนนี้คุณถึงไหน หรือถึงจุดไหนถึงจะเรียกว่าทำสำเร็จ เช่น ปิดการขายได้ 1 แสนบาท หรือเดินให้ครบ 10,000 ก้าว และต้องมีกำหนดเวลาให้ตัวเองที่ชัดเจน สำหรับการทำงานที่คุณไม่ได้รัก คุณสามารถตั้งเป้าหมายว่าเมื่อไหร่จึงจะลาออกไปจากที่นี่ เลื่อนตำแหน่งขึ้นไป หรือโยกย้ายไปทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า รวมทั้งเป้าหมายในการเก็บเงินในกรณีที่คุณมีสิ่งอื่นหรือธุรกิจอื่นที่อยากทำมากกว่า จำไว้ว่าตั้งเป้าหมายดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แม้เป็นสิ่งที่คุณไม่อยากทำ แต่หากมีการกำหนดเป้าหมายและสิ่งที่ต้องทำไว้แล้วก็จะมีโอกาสทำให้คุณลงมือทำตาม checklist นั้นมากกว่า 2. วางกลยุทธ์แรงจูงใจให้เหมาะกับจริตตัวเอง ในทางจิตวิทยานั้น มีทฤษฎีที่พูดถึงแรงจูงใจไว้หลากหลายมาก แต่ในที่นี้ อยากให้คุณทำความรู้จักกับแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic Motivation) และแรงจูงใจจากภายนอก (Extrinsic Motivation) และใช้ประโยชน์จากสองสิ่งนี้ แรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic Motivation) เกิดจากความอยาก ความต้องการ หรือความปรารถนาจากภายในใจของคุณที่ต้องการเห็นตัวเองประสบความสำเร็จ ดีขึ้น เก่งขึ้น พัฒนาขึ้น ซึ่งแรงจูงใจด้านนี้ คุณต้องสร้างมันขึ้นมาเอง และวิธีหนึ่งก็คือการตั้งเป้าหมายที่กระตุ้นตัวคุณ ดังที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ ข้อดีของแรงจูงใจด้านนี้คือ คงอยู่นาน มีพลัง และไม่ต้องสิ้นเปลืองโดยใช้สิ่งของไหนเป็นตัวหลอกล่อ แต่เกิดจากความอยากและแรงขับเคลื่อนจากข้างใน ในการจะเห็นหรือได้อะไรบางอย่าง ซึ่งโดยส่วนมากมักเกิดมาจากการอยากมีความรัก การอยากมีเกียรติ การอยากท้าทายศักยภาพตัวเอง หรือความอยากประสบความสำเร็จ แรงจูงใจจากภายนอก (Extrinsic Motivation) เกิดจากสิ่งล่อใจภายนอก ทั้งด้านบวกที่ทำให้อยากได้ หรือด้านลบที่ทำให้อยากหลีกหนีให้พ้น เช่น การให้รางวัลตัวเองเมื่อทำงานสำเร็จ การเลื่อนตำแหน่ง การปรับเงินเดือน การชื่นชมจากคนอื่น รายได้ที่เพิ่มเข้ามา หรือการทำเพื่อไม่ให้ถูกลงโทษหรือเกิดผลเสีย เช่น แปรงฟันก่อนนอนเพราะกลัวฟันผุ แรงจูงใจด้านนี้ก็ถือว่ามีพลังเช่นกัน แต่ค่อนข้างจะเปราะบางและหายไปได้ง่าย เมื่อทำสำเร็จแล้วก็ต้องแสวงหาแรงกระตุ้นใหม่ต่อไป รวมทั้งอาจสิ้นเปลือง

แรงจูงใจ

อย่างไรก็ตาม คนแต่ละคนจะตอบสนองต่อแรงจูงใจแต่ละแบบไม่เท่ากัน บางคนก็ขับเคลื่อนจากแรงจูงใจภายในเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บางคนก็ใช้เครื่องล่อใจจากภายนอกมากกว่าจึงจะได้ผล แต่ที่แน่ ๆ คุณควรผสมผสานทั้งสองด้าน และหาจุดที่เหมาะสมสำหรับคุณที่สุด ที่สำคัญก็คือ เมื่อแรงจูงใจทั้งสองด้านรวมกัน ต้องมีพลังมากกว่าความไม่อยากทำ ความเบื่อหน่าย หรือความขี้เกียจ จนสามารถงัดคุณให้ลุกขึ้นมาทำให้ได้ตามเป้าหมาย เช่น บางคนชอบการแข่งขัน เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ากำลังแข่งขันกับตัวเองในอดีต หรือแข่งขันกับคนอื่นจะรู้สึกมีพลัง นี่ก็ถือเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งได้เช่นกัน 3. มองหาด้านสนุกของงานนี้ มีการศึกษาพฤติกรรมของคนที่ตั้งเป้าหมายแล้วประสบความสำเร็จ พบว่า คนที่ตั้งเป้าหมายทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมักจะคงความสม่ำเสมอและวินัยเอาไว้ได้นานกว่าคนที่เลือกเป้าหมายที่ตัวเองไม่ชอบ ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่า หากมีสิ่งไหนที่คุณรู้สึกชอบ จะทำให้คุณมีแรงลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ต้องทำได้ แม้ในงานที่คุณไม่ชอบก็เช่นกัน อย่างน้อยก็ต้องมีซักส่วนที่คุณรู้สึกสนุก เช่น ในงานวิเคราะห์ข้อมูลที่มีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด คุณรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ใช่สไตล์ของคุณอย่างมาก แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่คุณรู้สึกสนุกนั่นคือการได้นำเสนอข้อมูลนั้นต่อหน้าที่ประชุม หรือในบางกรณี คุณอาจโชคดีได้อยู่ท่ามกลางเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก ถึงแม้จะไม่ถูกสไตล์การทำงานกับหัวหน้า หรือได้ทำงานที่ไม่ชอบเอามาก ๆ หรือแม้กระทั่งการที่คุณสามารถนั่งฟังเพลงไปทำงานไปได้ โดยไม่มีใครมาห้ามคุณ นี่ก็ถือว่าเป็นส่วนดี สิ่งที่คุณต้องทำคือ มองหาและนั่งเขียนออกมา มีส่วนไหนบ้างที่เป็นด้านที่คุณรู้สึกโอเค ประเด็นคือคนเราส่วนใหญ่มักไปโฟกัสในส่วนที่ตัวเองไม่อยากได้ จนหลงลืมส่วนที่ดีไปเสียหมด เพราะอคติทำให้ยิ่งขยายอิทธิพลของสิ่งที่ไม่ชอบเสียใหญ่โต แล้วพาลอคติกับอย่างอื่นด้วย คนที่สามารถมองเห็นด้านดีของสิ่งที่มี แม้เป็นส่วนที่เล็กน้อย หรือสามารถขยายเวลาในการอยู่กับสิ่งนั้นมากขึ้น คือคนที่จะทนอยู่ได้นานขึ้นและมีความสุขกว่าคนที่มองลบไปทุกอย่าง 4. มีงานอดิเรกหรืองานเสริมที่ทดแทนความสุข บางครั้งคุณไม่สามารถเลือกจะหนีจากงานที่ไม่รักไม่มีความสุขได้ตลอด อันเนื่องมาจากเหตุผลและความจำเป็นเรื่องอื่น ๆ แต่ข่าวร้ายคือคุณไม่สามารถทนอยู่กับสภาวะที่คุณอยู่กับความเครียด ความเกลียด ความทุกข์ได้ตลอดไป ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องทำคือสร้างช่วงเวลาที่คุณจะมีความสุขกับบางอย่างขึ้นมาให้ได้ และไม่ใช่แค่ช่วงเวลาของการเล่นกับลูก เล่นกับหมาแมว นอนหลับ หรือการนั่งดูซีรีย์ที่ชอบ แต่สิ่งนั้นต้องเป็น “งาน” หรือ “กิจกรรม” ที่เทียบเท่ากับการทำงานของคุณ คือ ต้องสร้างผลลัพธ์ สร้างความก้าวหน้า และต้องได้รับผิดชอบ เสมือนได้อาชีพอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงคือ มันจะทำให้คุณเกิดพลังชีวิต เรียกคืนความสุขขึ้นมาอีกครั้ง เผลอ ๆ จะทำให้คุณมีพลังกลับไปต่อสู้กับงานที่คุณไม่ชอบได้อีกด้วย ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่มักนำมาอ้างกันคือ ไม่มีเวลา แค่ทำงานหลักก็เหนื่อยหมดแรงแล้ว ซึ่งนั่นเป็นเพียงข้ออ้าง หากคุณปรารถนาที่จะเอาชนะภาวะที่กำลังเผชิญอยู่ คุณจำเป็นต้อง “สร้างช่วงเวลา” ที่คุณจะค้นหาอาชีพหรือกิจกรรมแห่งความสุขของคุณให้เจอ ไม่แน่ว่า เมื่อทำจริงจังอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายมันอาจจะกลายเป็นอาชีพหรือธุรกิจหลักที่ทำให้คุณพุ่ง ปัง และมีความสุขสุด ๆ ข้อสังเกตส่วนตัวของแวนคือ คนที่มักอยู่แต่กับตรรกะและดำเนินชีวิตตามหลักเหตุผล มักไม่ค่อยงอแงเมื่อต้องทำงานที่ไม่ชอบ เผลอ ๆ คนคนนั้นยังไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าไม่ชอบ หรือไม่อยากทำ แต่ด้วยเหตุผล ทำให้พวกเขารับผิดชอบและมีวินัยทำจนสำเร็จได้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ กลุ่มที่มักใช้อารมณ์และความรู้สึกนำ คนเเหล่านี้มักจะทนได้ยากกับสิ่งที่ตัวเองไม่มีใจ ไม่ว่าจะงัดเหตุผลไหนมาอธิบายก็ตาม ลองนำคำแนะนำทั้ง 4 ข้อไปใช้ ไม่ว่าคุณจะเป็นสายใช้แต่ตรรกะเหตุผล หรือสายใช้แต่อารมณ์ความรู้สึก ก็สามารถก้าวข้ามภาวะอยู่กับงานที่ไม่รักได้แน่นอนค่ะ

Comments


bottom of page