top of page
self-esteem course cover blog page.jpg
  • พิชาวีร์ เมฆขยาย, นักจิตวิทยาองค์กร

3 คำแนะนำสำหรับภาวะหมดไฟในวัย 30+


หมดไฟ

หากคุณกำลังพบความผิดปกติในตัวเอง คือ รู้สึกเบื่องาน ท้อแท้ หมดไฟ อยากหนีไปให้ไกลๆ ขอให้คุณรู้ไว้ว่า คุณไม่ได้ผิดปกติ แต่ภาวะนี้เป็นกันเกือบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เริ่มย่างเข้าวัย 30+ ดูได้จากการที่มีคนจำนวนมากมาหาแวนเพื่อมองหาทางแก้ ด้วยปัญหาเดียวกันนี้ และส่วนใหญ่อยู่ในวัย 30+ และ 40+ ภาพการทำงานวันแรกของคุณ จำได้หรือเปล่า วันที่คุณตื่นเต้น นอนไม่หลับ และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่อยู่ตรงหน้าเต็มไปหมด และในวัยยี่สิบกว่า ช่วงวัยที่คุณกำลังมีพลังเต็มที่ สนุกกับงานที่สุด ทุกอย่างคือเรื่องท้าทาย เป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจน และรู้สึกว่าก้าวหน้าไวอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ บางคนก็ถูกโปรโมทให้ทำหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น จากเดิมที่เคยสนุกกับงานที่ทำคนเดียว รับผิดชอบส่วนเดียวคือส่วนที่ชอบ แต่เมื่อเป็นหัวหน้าคน กลับมีภาระหน้าที่ที่ไม่สนุกติดตามมาด้วย ความรับผิดชอบที่หนักหนากว่าเดิม ทำให้ความสนุกกลับกลายเป็นความกดดันที่มากเกินไป การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดความเครียดสะสม ส่วนบางคนที่หยุดอยู่กับที่ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมื่อไหร่จะประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นซักที หลายคนเริ่มคิดถึงการลาออก การออกไปเปิดธุรกิจของตัวเอง การเป็นนายตัวเอง การเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่ต้องทนอยู่รับคำสั่งที่น่าปวดหัว หรืออยู่ท่ามกลางสงครามในที่ทำงานที่สร้างความเครียดให้ทุกวัน ในขณะที่บางคนรู้สึกไร้หนทาง เพราะหนี้สินบีบบังคับให้ต้องสู้ และไม่สามารถหนีไปไหนได้ ภาวะเหล่านี้จะยิ่งทำให้คุณหมดพลัง ไม่มีความสุขในชีวิต รวมทั้งหากปล่อยทิ้งไว้นานอาจทำให้เกิดภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้าขึ้นมาได้ ก่อนที่คุณจะวู่วามตัดสินใจอะไรออกไป แวนอยากฝากวิธีที่จะช่วยดึงสติ ช่วยให้รับมือกับสิ่งที่เจอดีขึ้น และช่วยให้คุณเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจบางสิ่งบางอย่าง ดังนี้ 1. ขับเคลื่อนชีวิตด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ว่าในตอนนี้คุณจะรักหรือเกลียดงานที่ทำอยู่ก็ตาม หรือไม่ชอบขี้หน้าเพื่อนร่วมงานบางคน แต่ชีวิตคุณต้องไม่ยึดโยงกับคำว่ารัก ชอบ หรือเกลียดสิ่งใดๆ หากแต่คุณต้องยึดกับเป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นที่ให้คุณโฟกัสไปที่สิ่งนั้น ให้คุณก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกที่อาจกระทบจิตใจทุกวัน หาก ณ วันนี้คุณยังไม่มีเป้าหมายชีวิตก็ไม่เป็นไร แต่หลังจากนี้คุณต้องหาเวลามานั่งทบทวนตัวเอง คุยกับตัวเอง และตกผลึกว่า คุณต้องการเห็นตัวเองในอีก 5 - 10 ปีเป็นอย่างไร และการที่คุณไปทำงานทุกวันนี้ สนับสนุนเป้าหมายชีวิตที่ว่านั้นหรือไม่ สนับสนุนอย่างไร ซึ่งหากเป้าหมายคุณชัดเจนขึ้น คุณจะตอบตัวเองได้ทันทีว่า งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ใช่หรือไม่ใช่สำหรับคุณ 2. เรียนรู้เพื่อสร้างทักษะแห่งอาชีพที่สองสามให้เร็วที่สุด ความเบื่อ การไม่มีความสุขกับงานจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันที หากการเปลี่ยนแปลงมันถาโถมเข้ามา และสร้างผลกระทบให้กับคุณ ดังจะเห็นจากข่าวที่ออกมาอยู่เนืองๆ ว่า ทั่วโลกต่างกำลังนำ AI และเทคโนโลยีจำนวนมหาศาลเข้ามาใช้ในการทำงาน ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะบีบบังคับให้วิถีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปด้วย รวมถึง ไม่จำเป็นต้องใช้คนทำงานที่ AI ทำแทนได้อีกแล้ว ในฐานะคนทำงาน คุณจึงควรศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลง เทรนด์โลก และเร่งเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะอื่นๆ อีกสองสามทักษะที่จะสามารถใช้หาเงินได้ คำถามที่คุณควรย้อนกลับมาถามตัวเองก็คือ หากวันนี้ทักษะที่ใช้หาเงินอยู่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ไม่มีใครต้องการทักษะหรือความรู้นี้แล้ว คุณจะทำอะไรต่อไป การเรียนรู้ที่ว่า นอกจากจะเป็นการช่วยให้คุณเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังเรียกไฟ ความกระตือรือร้น และชีวิตชีวาของคุณกลับมาได้อีกด้วย เพราะส่วนหนึ่งที่คนเราหมดไฟหรือเบื่อหน่าย นั่นเป็นเพราะอยู่กับสิ่งเดิมๆ และทำอะไรที่ซ้ำซากจำเจนานเกินไป ไม่แน่ว่าพอได้ออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้ว คุณอาจกลับมามีไอเดียใหม่และกระตือรือร้นกับงานที่ทำอยู่มากขึ้นก็ได้ 3. รีบตัดสินใจทำตามเป้าหมายในขณะที่ยังมีแรงทำไหว ความลังเล ละล้าละลัง และความกลัว จะฉุดให้คุณไม่กล้าก้าวออกไปไหน จนรอถึงวันที่อะไร ๆ ก็สายเกินไปแล้ว ย้อนกลับไปข้อแรกที่บอกว่าคุณต้องมีเป้าหมาย นั่นเป็นเพราะจะช่วยให้คุณกล้าตัดสินใจได้อย่างแน่วแน่ว่า คุณจะอยู่หรือจะไป และจะก้าวออกไปทางไหนต่อ เมื่อคุณตัดสินใจที่จะออกไปเริ่มต้นสิ่งอื่น คุณควรรีบลงมือทำในขณะที่คุณยังมีแรงกายแรงใจมากพอที่จะต่อสู้ ฝ่าฟัน หรือยังพอมีหน่วยเวลาสำหรับความผิดพลาดล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น จำไว้ว่าอย่าฟังเสียงความกลัวมากเกินไป แต่จงเงี่ยหูฟังเสียงความปรารถนาที่ดังอยู่ในใจด้วยเช่นกัน ทุกการตัดสินใจขอให้อยู่บนเหตุผลและผ่านการคิดตรึกตรองถึงข้อดีข้อเสียแล้ว อย่าปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกมาบงการมากไปและทำให้คุณตัดสินใจชั่ววูบโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง เพราะนั่นมันอาจสร้างปัญหาที่หนักหนากว่าเดิมก็เป็นได้

Comments


bottom of page