- พิชาวีร์ เมฆขยาย
5 วิธีพัฒนาสุขภาพอารมณ์ให้พร้อมเผชิญหน้ากับทุกการเปลี่ยนแปลง
สุขภาพอารมณ์ (Emotional Health) เป็นส่วนหนึ่งของ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถของคนเราในการยอมรับและบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ โดยเฉพาะเมื่อกำลังเผชิญกับความท้าทายหรือการเปลี่ยนแปลง (ที่มีผลกระทบกับการใช้ชีวิต) คนที่มีสุขภาพอารมณ์ที่ดีจะสามารถทำความเข้าใจและตามอารมณ์ของตัวเองได้ สุขภาพอารมณ์นั้นหมายรวมถึงความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และการควบคุมอารมณ์ สุขภาวะทางอารมณ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม การไร้อารมณ์ไม่ได้แปลว่ามีสุขภาพอารมณ์ที่ดี และการไม่เจ็บป่วยทางจิตก็ไม่ได้แปลว่ามีสุขภาพจิตดี คนที่ชอบกดข่มอารมณ์ตัวเองไว้มักมีสุขภาพอารมณ์ดีไม่เท่าคนที่เปราะบางและแสดงอารมณ์ตัวเองออกมา ภาวะอารมณ์เศร้าโศกและกังวลใจมักนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยที่ไม่ใช่แค่จิตใจ แต่รวมถึงร่างกายได้ เช่น โรคหัวใจ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง และยังโยงไปถึงการติดสารเสพติดและพฤติกรรมผิดปกติอื่น ๆ อีกด้วย ในภาวะที่สังคมและโลกรอบตัวมีการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน และเกิดวิกฤตการณ์รอบด้าน จึงยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่คนเราจะมีภาวะอารมณ์เศร้าโศกและกังวลใจเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งนั่นก็จะยิ่งเพิ่มความเสีี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ และส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เกิดปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกายตามมาอีก ดังนั้น คนที่มีวิถีชีวิตที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพอารมณ์ที่ดีนั้นจึงช่วยได้มาก มาดู 5 วิธีพัฒนาและรักษาสุขภาพอารมณ์ที่ดีเพื่อให้คุณพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง ที่คุณสามารถทำได้เลย 1. ฝึกสมาธิและสติ วิธีการนี้มีงานวิจัยสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงคุณประโยชน์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดี รวมถึงการฝึกสมาธิและสติคือการฝึกให้มีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองในภาวะเผชิญปัญหา (Resilience) 2. รักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับคนอื่น การมีคนที่ใกล้ชิดคอยเป็นกำลังใจและสนับสนุนเมื่อคนเรากำลังเผชิญปัญหานั้นมีผล อย่างมากที่จะช่วยให้คนเราฟันฝ่าอุปสรรคและก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ได้ รวมทั้งมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับคนอื่นนั้น มีความเสี่ยงจะมีปัญหาสุขภาวะมากกว่าการสูบบุหรี่หรือภาวะอ้วนซะอีก อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนจำนวนมาก ๆ เสมอไป เพราะถึงแม้เพื่อนน้อยแต่ความสัมพันธ์เหล่านั้นมีคุณภาพ คนเหล่านั้นคอยสนับสนุนและอยู่เคียงข้างคุณเสมอ นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สุดยอด
3. บริหารความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทักษะการบริหารเวลาอย่างได้ผล การออกกำลังกาย และการรู้จักปล่อยวางเรื่องที่ตัวเองควบคุมไม่ได้ เหล่านี้จะช่วยลดระดับความเครียดได้ ยิ่งเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านสุขภาพอารมณ์ หลักการคือ คุณควรพยายามควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้ และพยายามจัดการไม่ให้ยุ่งเหยิงจนกลายเป็นความเครียดโดยไม่จำเป็น เช่น หากบริหารเวลาไม่ดี ชีวิตที่ยุ่งเหยิง เกิดความเครียดได้ หรือการไม่ออกกำลังกายจนละเลยสุขภาพ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาจนมีความเครียด แบบนี้เป็นต้น 4. แสดงอารมณ์ในวิธีที่เหมาะสม เช่น การเขียนบทความ การเขียนบันทึกส่วนตัว การส่งผ่านอารมณ์ออกมาทางศิลปะ หรือการพูดคุยกับเพื่อนหรือคนรัก ถือเป็นกลยุทธ์ให้คุณได้แสดงอารมณ์ออกมาอย่างสร้างสรรค์ หรือหากใครที่กำลังโกรธจัด ๆ ก็อาจจะยกระดับความรุนแรงขึ้นมาอีกหน่อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เช่น การชกหมอน การเขียนระบายอารมณ์ลงในกระดาษแล้วขยำหรือฉีกทิ้ง เป็นต้น
ดูตัวช่วยจัดการความโกรธอย่างเหมาะสม >> 5. ฝึกอธิบายอารมณ์ความรู้สึกตัวเองออกมาเป็นคำพูด จะช่วยให้คุณตระหนักรู้ตัวเองมากขึ้น หัดสังเกตมากขึ้น รวมถึงสามารถอธิบายสิ่งที่กำลังรู้สึกอยู่นั้นออกมาให้ทั้งตัวเอง หรือคนอื่นได้เข้าใจ สิ่งนี้ก็ถือเป็นการแสดงออกอารมณ์อย่างเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งปัญหานี้มักพบในคนที่ทำงานโดยอยู่กับตรรกะและเหตุผลเสมอ จนละเลยความรู้สึก ไม่รู้จักความรู้สึก และอธิบายออกได้เพียงแค่ความคิด และระบุอารมณ์ไม่เป็น ดูเครื่องมือช่วยอธิบายอารมณ์ความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด >> อารมณ์ถือว่าเป็นเรื่องของจิตใจ ที่เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับร่างกาย และพฤติกรรม หากส่วนใดส่วนหนึ่งทำงานบกพร่องไป หรือเป็นลบมากไป ก็จะส่งผลต่อส่วนอื่นที่เหลือ โดยเฉพาะในภาวะที่โลกกำลังปั่นป่วน เกิดความเครียด ความวิตกกังวลกันมากขึ้น คุณจึงยิ่งต้องดูแลสุขภาพอารมณ์ของตัวเองให้ทำงานได้อย่างปกติ เพื่อจะได้มีสมองที่ปลอดโปร่ง ความคิดโลดแล่น เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเข้ามา
Comments